สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 เม.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 เม.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแนวทางสำหรับการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐต่างๆ ของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,242.49 จุด เพิ่มขึ้น 704.81 จุด หรือ +2.99%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,874.56 จุด เพิ่มขึ้น 75.01 จุด หรือ +2.68% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,650.14 จุด เพิ่มขึ้น 117.78 จุด หรือ +1.38%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับแผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐที่จะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง และการประกาศขั้นตอนที่คล้ายกันของหลายประเทศในยุโรป ซึ่งเพิ่มความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์มานานหลายสัปดาห์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 2.63% ปิดที่ 333.47 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,499.01 จุด เพิ่มขึ้น 148.85 จุด หรือ +3.42%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,625.78 จุด เพิ่มขึ้น 324.24 จุด หรือ +3.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,786.96 จุด เพิ่มขึ้น 158.53 จุด หรือ +2.82%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับแผนเปิดเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสหรัฐ และตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 ด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,786.96 จุด เพิ่มขึ้น 158.53 จุด หรือ +2.82%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 18 ปีนับตั้งแต่ต้นปี 2545 เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับผลผลิตน้ำมันปริมาณมากทั่วโลก และพื้นที่จัดเก็บน้ำมันที่ลดน้อยลง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 1.60 ดอลลาร์ หรือ 8.1% ปิดที่ 18.27 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2545 และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 19.7%

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 28.08 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลง 10.8% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) โดยร่วงหลุดระดับ 1,700 ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำเพื่อเข้าซื้อหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่มีรายงานความคืบหน้าในการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 และรัฐบาลสหรัฐเตรียมเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลงในหลายรัฐ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 32.9 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 1,698.8 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาทองคำ ร่วง 3.1%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 32.7 เซนต์ หรือ 2.09% ปิดที่ 15.295 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 8 ดอลลาร์ หรือ 1.01% ปิดที่ 785.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 10.20 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 2,130.9 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโร หลังจากมีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศแผนการที่จะเปิดเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐต่างๆ ของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.22% สู่ระดับ 99.7987 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.59 เยน จากระดับ 107.63 เยน, อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9676 ฟรังก์ จากระดับ 0.9689 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4022 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4111 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0867 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0845 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2482 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2459 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6353  ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6311 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button