พรรคร่วมรบ. หวั่นปัญหาเงินเยียวยา วุ่นไม่จบ จี้ “อุตตม” แจงใช้งบ 1.9 ล้านลบ.ให้เคลียร์!

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล หวั่นปัญหาเงินเยียวยา วุ่นไม่จบ เข้ายื่นหนังสือ เรียกร้องให้ "นายอุตตม สาวนายน" รมว.คลัง แจงรายละเอียดพ.ร.ก.กู้ 1.9 ล้านลบ.ให้เคลียร์!


ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า วันนี้ (20 เม.ย.63)​ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อขอให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

เนื่องจากเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกรณีการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งยังมีช่องโหว่อีกมาก โดยมีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เป็นผู้รับหนังสือ

โดยนายเทพไท กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทขณะนี้มีปัญหามาก และคิดว่าปัญหาจะไม่จบไม่สิ้น ซึ่งไม่เข้าใจว่ารัฐบาลประเมินเรื่องนี้อย่างไร จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้เดือดร้อน 3 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 27.7 ล้านคน และรัฐบาลจะคัดกรองให้เหลือ 9 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคนเดือดร้อนผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดแน่นอน จะทำให้การเยียวยาไม่จบ จะซ้ำซ้อน ปัญหาจะค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เคยเสนอแนวทางในการจ่ายเงินเยียวยา โดยจ่ายให้กับบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาท ให้ได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด และอีกแนวทางคือการจ่ายเงินเยียวยาตามทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมี 20 กว่าล้านครอบครัว ให้มีการคัดกรองเอาข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนมีอันจะกินออกไป 20-30% จะเหลือครัวเรือนที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ 10 ล้านครัวเรือน ในส่วนนี้รวมเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือนด้วย

โดยจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 1 หมื่นบาท หากแจก 1 เดือนจะใช้งบ 1 แสนล้านบาท แจก 3 เดือนใช้งบ 3 แสนล้านบาท และแจก 6 เดือนจะใช้งบ 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมงบประมาณพอดี ตรงนี้จะไม่มีปัญหา และไม่มีข้อครหาว่าช่วยเหลือไม่ทั่วถึง รัฐบาลสามารถอธิบายกับสังคมได้ด้วย

          “เกรงว่าปัญหาจะไม่จบไม่สิ้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ ไม่มีความรู้ การจะลงทะเบียนแต่ละครั้งต้องจ้าง ต้องยอมรับว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง โดยหากรัฐบาลทำตามข้อเสนอ การจ่ายเงินช่วยเหลือจะใช้เวลาไม่เกิน 5-10 วันก็จบ จะไม่มีปัญหา จะไม่มีการโต้เถียง จะไม่มีม็อบมาเกาะกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้ยืดเยื้อมาเป็นเดือนแล้ว” นายเทพไท กล่าว

ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาล เพราะเข้าใจว่าการกู้เงินเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจถึงภารกิจของรัฐบาลและความเดือดร้อนของประชาชน แต่อยากให้ รมว.คลัง ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินที่จะจ่ายเยียวยาให้ประชาชนว่าจะจัดสรรให้ใคร คนละเท่าไหร่ และระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทมีปัญหามาก ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเข้าใจ

นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมประมาณ 60 ล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อให้ทุกคนได้เงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งเป็นการคิดแบบง่ายที่สุด ไม่ต้องสลับซับซ้อน

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขอให้ รมว.คลัง ชี้แจงหลักเกณฑ์การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จากการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลักเกณฑ์ และในทางปฏิบัติแต่ละธนาคารพาณิชย์ยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเงินกู้ดังกล่าวอาจเข้าถึงผู้ประกอบการจริง

ส่วนการออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนพยุงตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีข้อกังวลจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะเอกชนรายใหญ่ และอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในวงเงินดังกล่าว จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง ทำความเข้าใจกับประชาชน

“เชื่อว่าทันทีที่ พ.ร.ก.กู้เงินเข้าสู่การประชุมสภา ฝ่ายค้านจะตั้งคำถามอย่างหนัก แต่ก็เข้าใจว่าการถามหนักคือการทำหน้าที่ ขณะที่ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลก็มีความสนใจในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายชาญกฤช ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือ กล่าวว่า จะนำหนังสือไปมอบให้รมว.คลัง รับทราบต่อไป พร้อมกับชี้แจงว่าการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 6 แสนล้านบาท และปฏิรูประบบเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้านบาท

และอีกส่วนจำนวน 9 แสนล้านบาท เป็นการดำเนินงานของ ธปท. ทั้งการปล่อยกู้ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพ ตลาดเงินตลาดทุน โดยยืนยันว่าไม่ใช่มาตรการอุ้มคนรวย เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดตราสารหนี้ในไทยมีจำนวนมาก ถ้าตลาดตราสารหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 20% ของจีดีพี เกิดความไม่มีเสถียรภาพ จะกระทบเป็นวงกว้าง

Back to top button