“ผู้ว่าฯธปท.” ห่วงวิกฤติ “โควิด” ทำยอดว่างงานพุ่ง แนะหลัก “พอเพียง-ออมเงิน” ลดปัญหาหนี้

"ผู้ว่าฯธปท." ห่วงวิกฤติ "โควิด" ทำยอดว่างงานพุ่ง แนะยึดหลัก "พอเพียง-ออมเงิน" ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยมุมมองของนายวิรไท สันติปะภพ ผู้ว่าการ ธปท. ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งเผยแพร่ใน BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้

โดยระบุว่า การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนและไม่แน่ใจว่าจะจบลงอย่างไร ผลกระทบเกิดขึ้นหลากหลาย กว้างไกล และกระทบกันเป็นลูกโซ่

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนไทยจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางตรง คือ พนักงานสายการบิน ธุรกิจทัวร์ และโรงแรมที่มีรายได้ลดลงหรือถูกเลิกจ้าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ผู้ประกอบการที่ส่งอาหารให้โรงแรม หรือผู้ขายสินค้าในตลาด เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวหายไปมาก ความต้องการใช้สินค้าและบริการก็ลดลง

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ถ้ามองย้อนไปในปี 2562 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง ลดเงินค่าล่วงเวลา และลดการจ้างงานใหม่ ทำให้คนมีรายได้น้อยลง แรงงานส่วนหนึ่งย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปภาคบริการ วันนี้แรงงานที่อยากจะย้ายไปสู่ภาคบริการก็ทำได้ยาก เพราะภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19

ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรที่เคยรองรับการจ้างงานให้กับคนที่ย้ายกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนาก็ทำได้ยากขึ้น เพราะปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือผลกระทบกับการจ้างงานที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง

นายวิรไท กล่าวว่า ปัญหาครั้งนี้ต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะกระทบในวงกว้างมาก และไม่มีใครมองออกว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง มีความไม่แน่นอนสูง เช่น จากที่เคยมองว่า วิกฤติน่าจะจบลงถ้าหยุดการระบาดในจีนและประเทศรอบข้างได้ มาวันนี้ การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

หรือแม้ว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อในจีนจะลดลง แต่จีนก็ต้องกลับมาตั้งรับอย่างเข้มงวด เพราะมีคนที่ติดเชื้อเดินทางเข้ามาและทำให้ผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นอีกเราต้องมองทั้งกว้างและมองไกล มองแบบระมัดระวังให้มากให้น้ำหนักกับการลดความเสี่ยง การตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนกจะทำให้เราสามารถเตรียมพร้อมล่วงหน้าได้

สำหรับ ธปท.เองเราติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงเห็นว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป จึงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลง เพื่อไม่ให้สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัวแรง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้ง มาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และสถาบันการเงินก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ปรับลดอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที

อีกด้านหนึ่งมาตรการที่ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลข้างเคียงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  กิจการร้านค้าต่างๆ ทยอยปลดคนงานและปิดกิจการ รายได้ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีหนี้คงค้างซึ่งมีภาระการผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือน ธปท.จึงได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาภาระของลูกหนี้มาเป็นระยะ รวมทั้งมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนควบคู่กันไปด้วย

นายวิรไท กล่าวว่า ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่นออกมาตรการชุดแรกซึ่งเป็นมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำหรือให้ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำได้กรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน รวมทั้งเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือพักชำระเงินต้น 6 เดือนโดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิตสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินจำนวนมากให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่ามาตรการขั้นต่ำที่กำหนด เพราะเห็นความเดือดร้อนของลูกหนี้จริงๆ

นอกจากนี้ ธปท. ได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และออกมาตรการชุดที่สอง คือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและขาดสภาพคล่อง โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแล เพื่อให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกได้ ทั้งลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสียหรือ NPL (Non-Performing Loan) เพราะต้องการให้การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ทำได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

แต่ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ธปท. จึงได้ออกมาตรการอีกชุดหนึ่งเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ ได้แก่ การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ให้กับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 ต่อปี และในช่วง 6 เดือนแรกรัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทน

โดย ธปท.จัดสรร soft loan วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ให้ธนาคารเป็นเวลา 2 ปีเพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ SMEs และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว กระทรวงการคลังจะชดเชยบางส่วนให้แก่ธนาคารด้วย ดังนั้น ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน

ธปท.คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนที่พักชำระหนี้ สถาบันการเงินจะทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ข้างต้นจะช่วยประคองธุรกิจ SMEs ให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ธุรกิจ SMEs เหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย

นอกจากนั้น ธปท. มองว่าการดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อมๆ กับความผันผวนที่สูงขึ้นมากในตลาดการเงินโลกย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดการเงินและระบบการเงินไทยที่มีความเชื่อมโยงกันสูง ถ้าตลาดการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งมีปัญหา ก็อาจกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบการเงิน ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณว่านักลงทุนต้องการเก็บเงินสด จึงเทขายตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของ GDP หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ ก็มีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง จนเกิดเป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

ดังนั้น ธปท. จึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF เพื่อช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือใส่กระเป๋าไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น ถ้าเปรียบในวิกฤติโควิด-19 ก็เหมือนกับการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ โรงพยาบาลสนามจะช่วยป้องกันไม่ให้การระบาดลุกลามจนควบคุมได้ยากวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุน BSF ก็เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ

สำหรับที่มาที่ไปและความจำเป็นของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับที่ ธปท. บอกว่าจะมีการดูแลธุรกิจ SMEs และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. และกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างทันการณ์

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.2 ฉบับแล้ว ได้แก่ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับนี้ให้อำนาจ ธปท. บริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีกลไกที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจำเป็นในภาวะที่การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะยืดเยื้อ รวมถึง พ.ร.ก. จะช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างทันการณ์

อย่างไรก็ดี ธปท. เชื่อมั่นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จะช่วยดูแลประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงินของประเทศให้ทำงานได้ต่อเนื่อง

สำหรับในช่วงต่อไป แต่ละภาคส่วนควรร่วมมือกันอย่างไรเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ธปท. มองว่าปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา คือ การประสานนโยบาย ประสานความร่วมมือกันทุกภาคส่วน และมีมาตรการที่หลากหลายมารองรับ นโยบายการเงินเป็นนโยบายเสริมที่ช่วยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น โดยช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจและรัฐบาล เช่นเดียวกับมาตรการชุดแรกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ

แต่หากเกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากตามมา มาตรการที่สำคัญต้องเป็น “มาตรการเพิ่มรายได้” เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และคนที่ตกงานได้รับการดูแลผ่านกลไกต่างๆ เช่น การจ้างงานชั่วคราว การสนับสนุนให้มีอาชีพใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางการคลังและเครื่องมือที่เป็นหลักประกันทางสังคม (social safety net) เป็นตัวนำำ ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ประสานกันจะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

“ผมมักจะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ให้คนไทยตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 คนส่วนใหญ่มักมองว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่อันที่จริงแล้วสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิต” นายวิรไท กล่าว

นอกจากนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในวิกฤติครั้งนี้ เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ สอดคล้องกับสถานการณ์ และไม่กลัวจนตื่นตระหนก ขณะเดียวกันต้องไม่ประมาทเพื่อไม่ให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นหลักสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันทางด้านร่างกายและการเงิน คนที่สุขภาพแข็งแรงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่สุขภาพไม่ดี ครัวเรือนหรือธุรกิจที่มีเงินออมเพียงพอก็จะมี “กันชน” บรรเทาความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจได้

สำหรับในโลกข้างหน้าที่จะยิ่งผันผวนเพิ่มสูงขึ้น ธปท. จึงให้ความสำคัญมากกับการลดปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้คนไทยมีเงินออมที่เพียงพอและวางแผนทางการเงินได้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ และจะช่วยให้เราก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากเย็นอย่างคราวนี้และในทุกสถานการณ์ในอนาคต สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความมั่นคงทางการเงินเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา

Back to top button