จัดกลยุทธ์ลงทุนดือนพ.ค.รับ SET ปรับฐาน! แนะสอย 14 หุ้นผันผวนต่ำ-ปันผลสูง-กำไรโตเด่น

จัดกลยุทธ์ลงทุนดือนพ.ค.รับ SET ปรับฐาน! แนะสอย 14 หุ้นผันผวนต่ำ-ปันผลสูง-กำไรโตเด่น


เข้าสู่การลงทุนเดือนพฤษภาคม 2563 “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมกลยุทธ์การลงทุนพร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนมานำเสนอโดยอาศัยบทวิเคราะห์จาก 3 โบรกเกอร์ชั้นนำของไทยนำโดยบล.กรุงศรี,บล.เอเซีย พลัส และบล.ฟินันเซีย ไซรัส

โดยทั้ง 3 โบรกเกอร์มีมุมมองต่อทิศทางตลาดเดือนนี้จะพักตัวหรือปรับฐานหลังจากดัชนีปรับตัวขึ้นแรง อีกทั้งภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงจากกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส1/63 หดตัวแรง ดังนั้นธีมการคัดหุ้นของเดือนนี้ยังเน้นหุ้น Defensive และหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากภาครัฐเตรียมคลาย lockdown และลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำมีปันผลสูงและกำไรโตโดดเด่น

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  ภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในเดือน เม.ย. SET Index ฟื้นตัวแรงให้ผลตอบแทน 15.6% พลิกเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ส่วนพอร์ตการลงทุนของ KSS เดือน เม.ย. พอร์ตลงทุนเน้นหุ้น Growth stock ให้ผลตอบแทนดีสุด +30% ส่วนพอร์ตจำลองรายเดือนให้ผลตอบแทน +13% แพ้ตลาดที่ให้ผลตอบแทน 15.6%

มุมมองเดือน พ.ค. คาด SET Index มีความเสี่ยงที่จะพักตัวหรือปรับฐานหลังจากดัชนีปรับตัวขึ้นแรงตอบรับปัจจัยบวกไปแล้ว, EPS ตลาดมี Downside ที่จะถูกปรับลง, Valuation ของ SET เริ่มไม่ถูก, และยังมีความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดครั่งใหม่ของไวรัส Covid-19 หลังหลายประเทศคลาย lockdown รวมถึงยังมีความเสี่ยงจาก Trade war ที่อาจจะปะทุขึ้น

ให้กรอบดัชนีเดือน พ.ค.ที่ 1,200 -1,350 จุด กลยุทธ์ เน้นแบ่งขายทำกำไรและรอซื้อกลับเมื่อดัชนีอ่อนตัว ยังเน้นหุ้น Defensive และหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากภาครัฐเตรียมคลาย lockdown อาทิ กลุ่มรถไฟฟ้า ค้าปลีก สื่อสาร และ โรงพยาบาล Top pick: ADVANC, BCPG, CPALL, CPF และ INTUCH

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  กลยุทธ์ลงทุนเดือน พฤษภาคม 2563 เตรียมรับผลกระทบ COVID-19 ส่งผ่านไปถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบปรับฐานแรงเกือบ 70%ytd ดัชนีชี้นำภาคการผลิต PMI ของ สหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอตัวลงค่อนข้างแรง ขณะเดียวกันด้านตลาดแรงงานมีผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐ สูงกว่าช่วงวิกฤติ Hamburger Crisis มาก ส่งผลให้ IMF มีการลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World GDP) ปี 2563 พลิกกลับมาติดลบ 3%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในประเทศแม้สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังอยู่ โดยมีการผ่อนคลายข้อจำกัด เพื่อให้บางธุรกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้

แนวโน้ม Fund Flow เดือน พ.ค. ซึ่งปกติตลาดหุ้นมักเผชิญกับเหตุการณ์ Sell in May เสมอ และต่างชาติมักจะขายสุทธิหุ้นไทยมากสุดในเดือนนี้เฉลี่ย 1.65 หมื่นล้านบาท กดดันให้ตลาดหุ้นไทยมักปรับฐานแรงเสมอ ขณะที่แรงซื้อจากสถาบันเริ่มแผ่วลงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน SSFX อาจไม่ช่วยหนุนตลาดอย่างที่นักลงทุนคาดหวังมากนัก เนื่องจากมียอดซื้อสะสม ณ 24 เม.ย. 2563 น้อย ซึ่งไม่ถึง 1 พันล้านบาท

ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงจากกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส1/63 หดตัวแรง อาจเปิดความเสี่ยงให้ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดกำไรต่อหุ้นปี 2563 ลง เป็นรอบที่ 4 ความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถูกสะท้อนในตลาดหุ้นไปในระดับหนึ่งแล้ว บวกกับ Valuation ทางพื้นฐาน เริ่มตึงตัว ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 2563 ที 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1264 จุด เท่ากับว่าที่ระดับ SET Index ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค. 2563 แนะจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง อย่าง RATCH, KBANK และ DCC หุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่นต่อจากนี้ STA, IVL, COM7 ขณะเดียวกับแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW และ DELTA

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า   ศก.ไทยหดตัวมากขึ้นเดือน มี.ค. จะลึกขึ้นเดือน เม.ย. ทุกองค์ประกอบหดตัวยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐหลังเบิกจ่ายงบฯได้ ท่องเที่ยวหดตัวแรงสุด นักท่องเที่ยวเหลือเพียง 8 แสนกว่าคน -76.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออกไม่รวมทองคำ -6.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนการบริโภคและลงทุนเอกชนลดลงตามความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ คนตกงานมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเกือบใกล้ศูนย์ สภาพัฒน์จะประกาศ GDP ไตรมาส1/63 ในวันที่ 18 พ.ค.2563

Sell in May 10 ปีที่ผ่านมา SET ปรับลง 8 ใน 10 ครั้ง ปรับลงเฉลี่ย 2.5% ปัจจุบัน SET มี PE 17.5 เท่า PBV 1.4 เท่า Earnings Yield Gap 5% ไม่ถูกเมื่อเทียบความเสี่ยง ซึมซับข่าวดีและความหวังแล้ว คาดตลาดเดือนนี้พักฐานรอปัจจัยบวกใหม่ แนะทยอยลดพอร์ต ติดตามการระบาดระลอก 2 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไป  การปรับขึ้นมาจากแรงซื้อของสถาบันในประเทศเพียงรายเดียว แต่กำไรวิ่งตามไม่ทัน (คาดกำไรไตรมาส 1/63 ลดลง 24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งปีลดลง 13% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) แรงซื้อของสถาบันลดลงจาก 12.7% เดือน มี.ค. เหลือ 10.9% เดือน เม.ย. ส่วนนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเร็วทำให้ตลาดมีลักษณะเก็งกำไรค่อนข้างสูง เดือนนี้แนะนำ BCH, CPF, INTUCH, KCE, OSP

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button