ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า เม.ย.63 อยู่ที่ 32.1 หดต่ำสุดในรอบ 28 เดือน เซ่นพิษ “โควิด”

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า เม.ย.63 อยู่ที่ 32.1 หดต่ำสุดในรอบ 28 เดือน เซ่นพิษ "โควิด"


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) เดือนเม.ย.63 ซึ่งสำรวจจากความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย.63

โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 32.1 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.5 และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน หรือกว่า 2 ปี

สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเม.ย. ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงไม่ถึง 10 คนต่อวันแล้วก็ตาม, การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด, การประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว

รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่กระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน, ปัญหาการว่างงานจากการปิดธุรกิจบางประเภทที่ไม่สามารถแบกรับภาระจากปัญหาเศรษฐกิจได้, ธุรกิจขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง, รายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลอตัวลง, เงินบาทอ่อนค่า สะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยบวกในเดือนเม.ย.นี้ คือ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19, การส่งออกไทยเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4.17% และระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 32.7 ลดลงจากระดับ 38.3 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยที่ลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่มีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ชีวิต, ประชาชนบางส่วนขาดรายได้จากการเลิกกิจการของธุรกิจที่ประสบปัญหาจากโควิด, การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้น

ปัจจัยบวก ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลงต่อเนื่อง, เงินช่วยเหลือจากภาครัฐเริ่มทยอยโอนเข้าบัญชีของประชาชนที่ได้รับการอนุมัติ เป็นต้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 32.2 ลดลงจากระดับ 37.3 ในเดือนมี.ค. โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาภัยแล้ง, มาตรการจำกัดการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชน ส่วนปัจจัยบวก เช่น การควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และการอนุมัติเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 36.4 ลดลงจากระดับ 41.6 ในเดือนมี.ค. โดยปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บางรายถึงขั้นปิดกิจการ, ความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่หมดไป, การลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจ, ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่สูงอย่างที่คาด, สถานประกอบการลดจำนวนแรงงาน, จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์จังหวัด เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 31.2 ลดลงจากระดับ 36.4 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยลบสำคัญ เช่น ความกังวลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, พายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนในพื้นที่, คนตกงานจากการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น, สถานการณ์ภัยแล้ง กระทบราคาพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง, การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 32.4 ลดลงจากระดับ 37.6 ในเดือนมี.ค. โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ, การส่งออกชะงักจากการปิดด่านชายแดน, สถานการณ์ไฟป่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่, สถานการณ์ภัยแล้ง และระดับราคาพืชผลทางการเกษตร ส่วนปัจจัยบวก เช่น มาตรการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง, การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.ของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 29.2 ลดลงจากระดับ 34.8 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในบางจังหวัดทางภาคใต้ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง, ปริมาณฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก, มาตรการล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ และรายได้ภาคบริการลดลงหลังจากไม่มีนักท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล และการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีไปถึงภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้

1. เร่งมาตรการผ่อนปรนให้เปิดกิจการ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักมากไปกว่านี้

2. การผ่อนปรนการล็อกดาวน์ในพื้นที่

3. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ควรให้ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง

4. มาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วน และหากสถานการณ์ยังคงอยู่อีกนาน อาจทำให้ต้องปิดกิจการถาวรในอนาคต

5. แผนการจัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

Back to top button