ธนาคารพาณิชย์สู่ความปกติใหม่

ปรากฏการณ์ New Normal ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้น ช่วงเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ราชบัณฑิตยสภา มีการบัญญัติศัพท์ New normal หมายถึง “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” พร้อมกับคำว่า New norm. หรือ “บรรทัดฐานใหม่” จึงถือเป็นพลวัตใหม่ที่ถูหยิบฉวยขึ้นมาใช้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลายบริบท


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ปรากฏการณ์ New Normal ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้น ช่วงเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ราชบัณฑิตยสภา มีการบัญญัติศัพท์ New normal หมายถึง “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” พร้อมกับคำว่า New norm. หรือ “บรรทัดฐานใหม่” จึงถือเป็นพลวัตใหม่ที่ถูหยิบฉวยขึ้นมาใช้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลายบริบท

อันที่จริงแล้ว New Normal เป็นคำศัพท์ทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกช่วงปี 2551 ช่วงวิกฤต การณ์ทางการเงินสหรัฐฯ หรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกช่วงปี 2551-2555 และไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีแบบเดิมอีก โดย Bill Gross นักลงทุนตลาดตราสารหนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) จึงให้นิยามถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยลงและไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ระดับเดิมอีกแล้วว่า New Normal

ขณะที่ Oxford dictionary ให้คำนิยามไว้ว่า “A previously unfamiliar or atypical situation that has become standard,usual, or expected.” นั่นหมายถึงสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่แต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ผู้คนไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มาตรฐาน ต่อมามีเหตุหรือเกิดวิกฤตบางอย่าง จึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถานการณ์ หรือปรากฏการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ปกติและเป็นมาตรฐาน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิด New Normal ชัดเจนมากขึ้น ผ่านพฤติกรรมบนโลกโซเชียลมีเดีย (Social Media) เห็นชัดคือ “ธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เริ่มตั้งแต่ระบบการตลาด ระบบการสั่งซื้อสินค้าและบริการ ระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว

สิ่งที่ตามมา ทำให้การธุรกรรมชำระเงินออนไลน์เป็นทางเลือก ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน เห็นได้จากปริมาณการใช้ Mobile Banking และ Internet Banking เพิ่มขึ้นอัตราก้าวกระโดด จนกลายเป็น Digital Disruption จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ต้องเผชิญกระแส Disruption และมีการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อรับมือและเข้าสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้

สถิติที่บ่งชี้ให้เห็นชัดการเข้าสู่กระแสการเงินยุคดิจิทัล ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือการปิดตัวลงของสาขาธนาคารต่าง ๆ และจำนวนการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ช่วงปี 2562 มีการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ จำนวนทั้งสิ้น 285 สาขา (นำโดยธนาคารกสิกรไทย 70 สาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ 67 สาขา ธนาคารกรุงไทย 53 สาขา ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 20 สาขา ธนาคารธนชาต 19 สาขา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย 16 สาขา ธนาคารทหารไทย 16 สาขา ธนาคารกรุงเทพ 13 สาขา และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 11 สาขา)

ขณะที่ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking ตลอดช่วง 5 ปี (2558-2562) มีตัวเลขเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด กล่าวคือ ตัวเลขการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking เพิ่มขึ้นจาก 13.91 ล้านบัญชีในปี 2558 มาเป็นกว่า 55 ล้านบัญชีในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 300% เช่นเดียวกับตัวเลขการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Internet Banking เพิ่มขึ้น 11.92 ล้านบัญชีในปี 2558 มาเป็นกว่า 26 ล้านบัญชี ในช่วงปี 2562 หรืเพิ่มขึ้นกว่า 120%

จากตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกชัดเจนว่า สำหรับธนาคารพาณิชย์ จากกระแสของ  Digital Disruption ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือการเข้าสู่ “ความปกติใหม่” ไปแล้วนั่นเอง..!

Back to top button