เกมแห่งความประมาท

ในขณะที่รัฐบาลพยายามออกข่าวความสำเร็จในการระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าทำได้ดีกว่ามาตรฐานโลกท่ามกลางคำถามว่าจริงแล้วเป็นเพราะ “เฮง” หรือ “เก่ง” กันแน่


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ในขณะที่รัฐบาลพยายามออกข่าวความสำเร็จในการระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าทำได้ดีกว่ามาตรฐานโลกท่ามกลางคำถามว่าจริงแล้วเป็นเพราะ เฮง” หรือ เก่ง” กันแน่

คำถามที่ท้าทายในอนาคตก็โผล่ขึ้นมาใหม่ว่า หากมีระลอกสองของโควิด-19 ขึ้นมา ทางเลือกของสังคมไทยคือ ห่วย หรือ ซวย กันแน่

ห่วย หมายถึง ความล้มเหลวของรัฐและคนไทยโดยรวมในการปล่อยปละละเลยให้เชื้อโรคร้ายกลับมาระบาดอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างความเสียหายที่คาดว่าจะร้ายแรงกว่าระลอกแรก

ซวย หมายถึง สังคมไทยเดินทางถึงทางเลือกที่เป็นสามแพร่งคือ เลือกเอาการช่วยชีวิตคนที่เป็นพลเมือง โดยยอมเสี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ (ด้วยการกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง) หรือไม่ก็ยอมให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้บางส่วน แลกกับการเสียชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น (เลิกล็อกดาวน์บางส่วนหรือทั้งหมด) หรือไม่ก็เสียหายทั้งสองอย่าง มีคนตายมากขึ้นจนต้องล็อกดาวน์ยาวนาน

ปัญหาเรื่องโควิด-19 กับปัญหาความยากจนของคนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เป็นปัญหาคู่ขนาน เพราะหากปัญหาด้านหนึ่งเบาลง ปัญหาอื่นก็ค่อย ๆ โผล่

โควิดเพลาลงแล้ว แต่ความยากจนกำลังจะเพิ่มขึ้น เป็นโจทย์ใหญ่ทั้งในระดับรัฐและระดับสังคม

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามซื้อเวลาในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนด้วยมาตรการทางการคลัง ด้วย เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เป็นหลัก ส่วนมาตรการทางการเงินเป็นแค่มาตรการเสริมที่ไม่ส่งผลมากนัก เช่น การยืดเวลาผ่านเงินต้นลูกหนี้แต่ไม่ลดดอกเบี้ยให้

มาตรการทางการคลังด้วยเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ช่วยทำให้ประชาชนรอดตายเฉพาะหน้า และดูเหมือนช่วยไม่ถูกจุดมากนัก เช่นคนที่สมควรได้รับกลับถูกมองข้าม หรือตำน้ำพริกละลายมหาสมุทร เช่นจ่ายเงินเลี้ยงอาหารชาวบ้าน ผ่านอปท.ทุกแห่ง สัปดาห์ละ 30,000 บาท หรือการแจกถุงยังชีพ ที่ไร้ความหมาย

เฮลิคอปเตอร์มันนี่ เช่นนี้ ก่อผลระยะสั้น และในอนาคต หากการระบาดโควิด-19 ระลอกถัดไป อาจจะมีข้อจำกัดทางการคลังของรัฐในการซื้อเวลา เพราะแม้ยากจะคาดเดาว่าการกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกอาจจะยิ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งมวลรวม (วัดได้จากจีดีพีที่ลดลงหรือติดลบ) ที่ทำให้คนยากจนในระดับล่างของสังคมมีชีวิตยากลำบากถึงขั้นอยู่ไม่ได้ขึ้นมา มาตรการทางการคลังที่รัฐบาลใช้อยู่ในระลอกแรกจะมีขีดจำกัดมากขึ้น

แรงกดดันจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างซึมลึก ถือเป็นผลกระทบที่ทำให้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองเดิมไม่อาจดำรงสถานภาพเดิมต่อไปได้

ในอดีต ปฏิกิริยาของการถดถอยความมั่งคั่ง จากการแพร่ระบาดของโรคร้ายจากจุลชีวะ ส่งผลหลายระดับต่าง ๆ กันไป นับแต่เบาสุดแค่ปฏิรูปทางอำนาจใหม่ จนถึงเลวร้ายสุดคือการลุกฮือโค่นอำนาจรัฐเดิม

กรณีของไทยยังยากจะคาดเดาว่า ผลพวงทางลบจากโควิด-19 จะส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมมากเพียงใด ความเฮงของรัฐบาลไทยในระยะสั้นอาจจะทำให้ครองอำนาจแบบเดิมไปได้นานแต่ถ้าหากว่าโควิด-19 ระลอกสองเกิดลุกลามบานปลายออกไปมากกว่าระลอกแรก มุมมองย่อมเปลี่ยนไป

ระลอกแรกของโควิด-19 ทำให้บาดแผลของสายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยเรื้อรังจนเริ่มจะต้องใช้กระบวนการ ชิงล้มละลาย” เพื่อหาทางออกจากปัญหาทางการเงินที่ทรุดหนัก และ ปตท.ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 ปี ถือว่าเป็นจุดดำบนพื้นขาวที่ไม่ทำให้ภาพลักษณ์เสียหายมากเกินไป

แม้วันนี้จำนวนผู้ป่วยการติดเชื้อผู้ป่วยโควิดจากการแพร่เชื้อในประเทศเป็นศูนย์แล้ว เหลือเฉพาะผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น ประเทศไทยได้รับคำยกย่องจากทั่วโลกว่าควบคุมโควิดได้ดี เราไล่ทันเกาหลีด้วยต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า แต่หากเปรียบเทียบแล้วสถานการณ์โควิดของไทยเราไม่ต่างจากประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar & Vietnam) ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรทางสาธารณสุขน้อยกว่าเรามาก

ถ้าพิจารณาจากปัจจัยเปรียบเทียบ ถือว่าไทยไม่ได้เก่งจริง แต่จะเฮงเหมือน ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านที่ขนาบเราอยู่ ดังนั้นเท่ากับว่าในระลอกแรกไทยได้ใช้ประโยชน์จากความเฮง

คำถามคือความเฮงจะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งหรือไม่

ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็ถือว่าคนและรัฐไทยตั้งตนในความประมาทมากเกิน เหมือนเดินอยู่บนปากเหวแล้วบอกว่าน่าจะรอดพ้นจากภัยทั้งปวง

Back to top button