THAI ลดทุนแล้วเพิ่มทุน

วานนี้ (20 พ.ค.) มีข้อมูลน่าสนใจจาก บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้ (20 พ.ค.) มีข้อมูลน่าสนใจจาก บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “หุ้น” ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเต็มไปด้วยขวากหนาม

ทิสโก้ มองว่า จากสถานการณ์โควิด-19

น่าจะมีหลายกิจการต้อง “ปิดตัวลง”

หรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง และเผชิญกับภาวะขาดทุน

กิจการที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง

แน่นอนว่า จะทำให้ “หนี้สิน” มากกว่า “ทรัพย์สิน” หรือที่เรารู้จักกัน คือ “ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ” นั่นแหละ

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงหุ้นสายการบิน THAI ที่กำลังมีปัญหา

เพราะมีโอกาสสูงมาก หากแจ้งงบไตรมาส 1/2563 ออกมา

แล้วส่วนของผู้ถือหุ้นอาจจะติดลบสูงมาก

มาดูข้อมูลของเรื่องฟื้นฟูกิจการกันต่อในมุมของทิสโก้

ทิสโก้ เขาบอกว่า  การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย เป็นเรื่อง “เจ็บปวด” ของ “ผู้ถือหุ้น”

เพราะตามหลักการโดยทั่วไปแล้ว

จะต้องดำเนินการ “ลดทุน” ตัดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก

ต่อจากนั้นจะต้องมีการเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งเรื่อง “แนวทางการฟื้นฟูกิจการ” และ “การปรับโครงสร้างหนี้”

กระบวนการหนี้ อาจมีทั้ง เช่น ระยะเวลาชำระหนี้ออกไป การยกหนี้ดอกเบี้ยให้แล้วจ่ายเฉพาะเงินต้น หรือการปรับลดเงินต้นให้บางส่วน (Hair-cut) การแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหม่

ทั้งหมดนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

โดยเฉพาะจากฝั่งของเจ้าหนี้

“จึงไม่น่าประหลาดใจที่ราคาหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะไม่มีค่าเลย เพราะเป็นการสะท้อนความเสี่ยงในภาวะล้มละลายของกิจการ และความไม่แน่นอนของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์” ข้อความนี้ ทิสโก้ระบุไว้น่าสนใจอย่างยิ่งครับ

ทิสโก้ ยังได้รวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เกี่ยวกับหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการ

พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกว่า 52 บริษัทครับ

แบ่งเป็น 1.บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ถูกเพิกถอนออกจากตลาดไปแล้ว 20 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38%

2.บริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ 9 บริษัท ซึ่งปัจจุบันถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขาย

และ 3.บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ สามารถกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ 23 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนที่ 44%

ตัวเลขนี้ จะเห็นว่า มีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง!!

และโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจการราว 7 ปี!!  ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP สูงสุด 18 ปี และน้อยสุด 1 ปี

แล้วผลตอบแทนจากการลงทุนของหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการล่ะ?

ทิสโก้ บอกว่า ราคาหุ้นของบริษัทที่กลับมาซื้อขายได้ในวันแรกจะ “เปิดกระโดดขึ้น”

และให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยสูงถึง +30 เท่าจากราคาปิดก่อนขึ้นเครื่องหมาย SP

ทว่า หลังจากนั้น แนวโน้มราคาหุ้นส่วนใหญ่จะถอยหลังลงอย่างต่อเนื่อง

จนปัจจุบันมีราคาหุ้นอยู่ต่ำกว่าราคาปิด ณ วันซื้อขายวันแรกเกือบทุกบริษัท เฉลี่ย -75%

แม้การลงทุนในหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการในอดีตจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงมาก หากสามารถฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ

แต่ก็แฝงด้วย “ความเสี่ยงสูง” มากเช่นกัน

ทั้งในแง่ของการสูญเสียเงินลงทุนไปทั้งหมด

และมีระยะเวลาการลงทุนที่ไม่แน่นอน

ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงมากได้เท่านั้น และนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ

อ่านข้อมูลของทิสโก้ แล้ว

และมาดูราคาหุ้นของการบินไทยในช่วงนี้

ราคาหุ้นนั้น

ช่างย้อนแย้งกับหลักการฟื้นฟูกิจการเสียเหลือเกิน

Back to top button