พาราสาวะถี

ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับการที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มี พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสมช.เป็นประธาน จะเคาะให้ต่ออายุการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยการอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเสียงของ กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชนที่ร่วมเป็นคณะกรรมการเป็นหลังพิง


อรชุน

ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับการที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มี พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสมช.เป็นประธาน จะเคาะให้ต่ออายุการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยการอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเสียงของ กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชนที่ร่วมเป็นคณะกรรมการเป็นหลังพิง

เพื่อให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้น ไม่ได้มุ่งหวังทางการเมืองใด ๆ แต่พอฟังสิ่งที่เลขาธิการสมช.ชี้แจง ยิ่งทำให้เห็นความย้อนแย้งอย่างเด่นชัด เพราะการที่อ้างว่า องค์การอนามัยโลกชื่นชม ระบบสาธารณสุขไทยมีประสิทธิภาพ นั่นก็หมายความว่า มาตรการในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย อยู่ที่ความสามารถในการดำเนินการของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นด้านหลัก ผนวกเข้ากับความร่วมมืออย่างแข็งขันของภาคประชาชน

คงอยู่ที่ภาคธุรกิจเอกชน หากเห็นว่ามาตรการผ่อนคลายที่ได้รับซึ่งวางแผนยาวกันไปถึงระยะที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะจบภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้ ไม่ได้มีอุปสรรคใด ๆ ต่อการทำมาค้าขาย ไม่กระทบต่อการประกอบอาชีพของภาคประชาชน การจะคงหรือไม่คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่มีความหมาย ก็ปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ใช้กฎหมายดังว่าต่อไปตามใจปรารถนา ส่วนเป้าประสงค์จะเพื่ออะไรคงไม่มีใครสนใจ เพราะสุดท้ายหากความเดือดร้อนมันถึงที่สุด การลุกฮือของประชาชนกฎหมายใดก็คงจะขวางลำบาก

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในส่วนพรรคการเมืองนั้นก็จะใช้เวทีสภาเป็นสำคัญ ฝ่ายค้านยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบ ขุดคุ้ยและเปิดปมต่าง ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่มีประเด็นใดเด็ด กระแทกให้รัฐบาลซวนเซได้ แต่การเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจที่ร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ เป็นความหวังของคนจากฝ่ายค้านโดยเฉพาะเพื่อไทย ที่จะเป็นช่องทางในการได้รับข้อมูลที่หลุดรอดมาเพื่อเป็นเครื่องมือเชือดใครบางคนในฝ่ายบริหารให้มีอันเป็นไป

อย่าลืมเป็นอันขาดศัตรูทางการเมืองที่น่ากลัวที่สุด หาใช่พวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นคนข้างกาย หอกข้างแคร่นี่แหละ ยิ่งในภาวะที่เกิดการเลื่อยขาเก้าอี้ระดับนำของพรรคแกนนำรัฐบาล กระแทกหมัดตรงกันแบบไม่เกรงอกเกรงใจท่านผู้นำ โดยมีสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนและการแก้ไขปัญหาโควิดที่กำลังสาละวนกันอย่างหนัก นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แรงกระเพื่อมภายในของพรรคสืบทอดอำนาจอยู่ในระดับรุนแรงอย่างน่ากลัว

ท่วงทำนองของฝ่ายที่ถูกกดดัน เป็นไปในลักษณะพยายามใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว และใช้มุกเดิมคือ การสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างแข็งขัน หวังที่จะให้เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กค้ำยันให้พรรคพวกของตัวเองอยู่รอดปลอดภัย แต่การรุกคืบของพี่ใหญ่ที่ท่องคาถาไม่มีอะไร ไร้ปัญหา ทุกอย่างจบแล้ว มันสวนทางกับพฤติกรรมของเด็กในคาถาและการข่าวที่ไม่เป็นมงคลซึ่งถูกปล่อยมาเป็นระยะ ย่อมชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ภายในไม่ปกติอย่างแน่นอน

ด้านของกลุ่มสามมิตรทั้ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ร้องเพลงคีย์เดียวกันคือ ไม่เหมาะที่จะพูดเรื่องการเมืองในเวลานี้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธแบบเด็ดขาดถึงข้อเรียกร้องที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคสืบทอดอำนาจ ต่างรู้ดีว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างไรในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา นาทีนี้จึงทำตัวเป็นพวกอยู่บนภูดูเขากัดกัน โดยมีแกนนำในซีกของม็อบชัตดาวน์ประเทศเป็นแกนหลักก่อหวอดเพื่อหวังผลต่อเก้าอี้สำคัญในการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น

นี่คือภาพการเมืองที่ว่าด้วยพรรคและนักการเมืองในสภา จะดำเนินไปในลักษณะที่ก่อกวนและยั่วยวนให้ท่านผู้นำแสดงอาการนอตหลุด หรือยอมพูดในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดถึงการปรับเปลี่ยนภายในรัฐบาล เพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปโดยที่ไม่ได้คาดหมายหรือวางแผนไว้ หลังการเข้ามาของโควิด-19 ซึ่งสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะตัดสินใจนั้น เป็นเรื่องยากลำบากไม่แพ้กรณีการบินไทยเหมือนกัน หากแต่ในมิติทางการเมืองมันจะสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงจำนวนเสียงในสภาด้วย

ถ้ายังไม่มีข้อมูลเด็ดใดไปตกอยู่ในมือฝ่ายค้าน รัฐบาลสืบทอดอำนาจก็ยังคงจะตีขิมอยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยมีปัจจัยที่จะต้องเฝ้าระวังคือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนาทีนี้หากไม่ใช่ขยับของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เคยแสดงพลังกันก่อนจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว กลุ่มการเมืองที่มีอยู่เดิม คงจะมองหากลุ่มที่มีพลังสามารถกดดันให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ยาก ที่เหลือเป็นปฏิปักษ์จริง ๆ ก็มีเพียงกลุ่มคนเสื้อแดงในนามนปช.เท่านั้น

วันนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่า กลุ่มนปช.ไม่ได้แข็งแรงและเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นกันเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. เพิ่งออกมาสารภาพ “เรายอมรับว่าเราอ่อนแอ” คนเสื้อแดงไม่แข็งแกร่งเหมือนเมื่อปี 2553 อีกต่อไป ขณะที่ระดับนำก็แตกกระสานซ่านเซ็น ไม่ได้เดินร่วมทางกันเหมือนที่ผ่านมา แม้จตุพรจะบอกว่าไม่ได้มีความขัดแย้งหรือแตกแยกกันแต่อย่างใด แต่ภาพของการไม่ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน มันย่อมบั่นทอนและย่อยสลายแนวร่วมไปในตัวด้วยเหมือนกัน

เมื่อมองจากปัจจัยของกลุ่มการเมืองที่ไร้กำลังจะต่อกรกับรัฐบาลแล้ว เสถียรภาพที่จะสั่นคลอนมันจึงอยู่ที่ 3 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ ความขัดแย้งปีนเกลียวและการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวภายในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลเอง การจุดติดของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งคงต้องใช้เวลาจนกว่าสถานการณ์ของโควิด-19 จะคลี่คลายหายไปเกือบเป็นปกติโน่น สุดท้ายซึ่งน่ากลัวที่สุดคือกลุ่มเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากสภาพปัญหาความเดือดร้อน

มีให้เห็นเป็นน้ำจิ้มแล้วก็กรณีของคนที่พลาดหวังได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท จากเดิมที่รัฐบาลแสดงท่าทีแข็งกร้าว ไม่ต้องมาร้องที่กระทรวงการคลังไปยื่นอุทธรณ์ออนไลน์อย่างเดียว สุดท้ายก็ต้องไปตั้งเต็นท์ในกรมกร๊วกเพื่อรับเรื่องร้องเรียน จนในที่สุดก็ต้องจ่ายให้หมดทุกราย เพราะถ้าปล่อยไปนี่คือหัวเชื้อของการก่อหวอดที่จะไปสู่การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและหนาแน่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นการยุติกันแบบชั่วคราว พอได้รับเงินเยียวยาแล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปเป็นธรรมดา

แต่อย่าลืมว่าความเดือดร้อนที่มันหยั่งรากลึกไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เงินเยียวยาที่จ่ายไปนั้นขีดเส้นไว้แค่ 3 เดือน ซึ่งจะครบจบกันในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นถามว่าทุกอย่างจะดีขึ้นทันทีทันใด ไม่มีคนตกงาน ไม่มีคนขาดรายได้ ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอยู่ได้กันหมดแล้วใช่หรือไม่ หากคำตอบคือไม่ใช่โดยที่ความทุกข์ยากอดอยากยังคงอยู่และหนักขึ้นกว่าเดิม นั่นแหละคือโจทย์ใหญ่ที่ว่าจะเกิดคลื่นมหาชนไร้แกนนำมารวมตัวเรียกร้องความช่วยเหลือและอาจจะลามไปถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือไม่

Back to top button