“สธ.” เปิดผลสำรวจ พบคนไทยการ์ดตก หลังผ่อนปรนมาตรการ ห่วงติด “โควิด-19”

"สธ." เปิดผลสำรวจ พบพฤติกรรมคนไทยการ์ดตก หลังผ่อนปรนมาตรการ ใส่หน้ากากอนามัย-กินร้อน ช้อนกลาง ลดลง ห่วงติด "โควิด-19"


นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลสำรวจการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยของประชาชน หลังจากผ่อนปรนมาตรการ พบว่าเริ่มย่อหย่อนลง

โดยภาพรวมพฤติกรรมการป้องกันในช่วงหลังผ่อนปรนมาตรการ (8-14 พ.ค.) อยู่ที่ 72.5% ลดลงจาก 77.6% ในช่วงก่อนผ่อนปรนมาตรการ (23-30 เม.ย.)

ทั้งนี้สามารถแยกเป็น การสวมหน้ากาก อยู่ที่ 91.0% ลดลงจาก 91.2%, การล้างมือ อยู่ที่ 83.4% ลดลงจาก 87.2%, การกินร้อน/ช้อนกลางตัวเอง อยู่ที่ 82.3% ลดลงจาก 86.1%, การเว้นระยะห่าง อยู่ที่ 60.7% ลดลงจาก 65.3% และการเอามือสัมผัสใบหน้า อยู่ที่ 52.9% ลดลงจาก 62.9%

  “อยากจะย้ำเตือนประชาชน การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก อาจจะเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้าในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ทำต่อเนื่อง โอกาสที่จะแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อมีน้อยมาก” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการสอบสวนโรคของชายไทยวัย 72 ปี ที่เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อนั้น ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าติดเชื้อมาจากสถานที่ไหน เพราะหากดูตามไทม์ไลน์แล้วพบว่ามีการเดินทางไปตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลถึง 3 แห่ง อาจติดเชื้อมาจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและจำนวนเชื้อโรคที่ได้รับในแต่ละครั้ง

สำหรับการนำกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กระชับอำนาจจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากถึง 40 ฉบับ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว การควบคุมราคาสินค้า ทำให้การทำงานได้ผลดี

ส่วนการนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาบังคับใช้เพียงฉบับเดียวจะไม่ครอบคลุม แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลดลงในระลอกแรก โดยได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ประมาท ได้กำหนดมาตรการดูแลต่อเนื่อง และต้องการความร่วมมือจากประชาชน

สำหรับการใช้งานแพลทฟอร์ม “ไทยชนะ” ในช่วงที่ผ่านมา นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแล้ว 1.1 แสนราย และยังลงทะเบียนไม่เรียบร้อยราว 2 หมื่นราย ซึ่งขอให้ผู้ประกอบการเข้าไปกรอกข้อมูลลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 28 พ.ค.63 ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้งานได้ และจากการประเมินผลพบว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยทั้ง 5 ข้อ ที่ระดับ 4.93 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ขณะที่ประชาชนให้การตอบรับใช้งานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดมีผู้ใช้บริการราว 3 ล้านราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติ โดยผู้เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลไปปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น

  “ขอยืนยันว่า ข้อมูลในแพลทฟอร์มไทยชนะ ใช้เพื่อการสอบสวนโรคเท่านั้น เราคำนึงถึงการเคารพเรื่องข้อมูลส่วนตัว และรบกวนประชาชนให้น้อยที่สุด…เป็นแพลทฟอร์มแรกๆ ที่ประชาชนตอบรับโดยไม่ได้บังคับ หากมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ท่านจะได้รับการเตือน ท่านจะรู้คนเดียว” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

สำหรับกิจการที่มีประชาชนลงทะเบียนใช้บริการมากสุด คือ ร้านสะดวกซื้อ ตามมาด้วยห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร โดยกิจการที่มีคะแนนการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย 5 ข้อได้ดี คือ ร้านเสริมสวยและเวชกรรม ส่วนกิจการที่มีคะแนนไม่ค่อยดี คือตลาดสด

ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากแพลทฟอร์ม “ไทยชนะ” นั้น จะช่วยให้กรมอนามัยรับรู้สถานการณ์โรคว่าขณะนี้ประชาชนเริ่มหย่อนยานในเรื่องสุขอนามัยอย่างไร จะได้กระตุ้นเตือนได้ ซึ่งช่วงนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องการสัมผัสใบหน้าตัวเอง และการเว้นระยะห่าง

ในส่วนของผู้ประกอบการนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจเพื่อประเมินผลเชิงคุณภาพว่ามีการปฏิบัติในเรื่องใดบกพร่องบ้าง เช่น การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ การจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง

“หากมีสถานการณ์ระบาดเกิดขึ้น จะสามารถย้อนกลับไปดูได้ว่าสถานประกอบการใดย่อหย่อน” นพ.บัญชา กล่าว

Back to top button