แนวรบใหม่ ‘สหรัฐ-จีน’

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้รุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ และในขณะนี้ได้ขยายแนวรบใหม่เข้าไปยังตลาดหุ้นแล้ว


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้รุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ และในขณะนี้ได้ขยายแนวรบใหม่เข้าไปยังตลาดหุ้นแล้ว

ในขณะที่วิกฤตไวรัสโคโรนายังไม่จบ ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกยิ่งร้าวฉานรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากต่างฝ่ายต่างโทษกันว่าเป็นต้นตอในการระบาดของไวรัสโคโรนา และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังได้ขู่เก็บภาษีจีนอีกครั้งในเดือนนี้

การเปิดแนวรบในตลาดหุ้นได้เริ่มขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เมื่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายที่จะสามารถจำกัดการจดทะเบียนของบริษัทจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือการระดมทุนจากนักลงทุนสหรัฐฯ หากไม่ทำตามมาตรฐานบัญชีและระเบียบของรัฐบาลสหรัฐฯ

แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจใช้กับบริษัทต่างชาติใด ๆ ก็ได้ที่หาทางเข้าถึงเงินทุนในสหรัฐฯ แต่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า การออกฎหมายฉบับนี้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ทำให้หุ้นอาลีบาบาที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ปรับตัวลงมากกว่า 20% ทันที

ปัญหานี้มีแนวโน้มว่าจะยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีความสำคัญมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะพยายามนั่งในทำเนียบขาวให้ได้อีกสมัย

รายงานของไชน่า เรอเนซองซ์ ระบุว่า นอกจากสหรัฐฯ จะปลดบริษัทจีนออกจากตลาดแล้ว สหรัฐฯ อาจจะเคลื่อนไหวอื่น ๆ อีก เช่น ห้ามกองทุนบำนาญสหรัฐฯ ลงทุนในตลาดจีน และห้ามรวมบริษัทจีนเข้าไปอยู่ในดัชนีหุ้นที่บริหารโดยบริษัทสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์มองว่า แรงกดดันเหล่านี้จะทำให้บริษัทจีนไปจดทะเบียนในตลาดอื่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทจีนจำนวนมากแห่ไปจดทะเบียนในสหรัฐฯ เพราะทำให้บริษัทดูมีภาษีดีกว่า และบรรยากาศการลงทุนน่าสนใจมากกว่าเนื่องจากมีการประเมินมูลค่าดีกว่าและมีฐานนักลงทุนที่มีความรู้มากกว่า

นักเศรษฐศาสตร์ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิต คาดการณ์ว่า บริษัทจีนจะจดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงมากขึ้น

ในขณะที่สหรัฐฯ เข้มงวดระเบียบมากขึ้น ฮ่องกงได้ทำให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดอื่น เข้าไปจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงดัชนีฮั่งเส็งครั้งสำคัญเพื่อปูทางให้ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีนขยายการค้าในเอเชียได้และทำให้นักลงทุนเข้าถึงหุ้นเหล่านี้ได้มากขึ้น

นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีฮั่งเส็งจะอนุญาตให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดอื่นและบริษัทที่มีหุ้นสองประเภท (dual-class shares) เข้าไปรวมอยู่ในดัชนีฮั่งเส็งได้

รายงานของมอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ว่า บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ น่าจะถือโอกาสจากการผ่อนคลายระเบียบในตลาดฮ่องกง ไปจดทะเบียนที่นั่น และคาดว่าจะมีแนวโน้มเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทที่กำลังวางแผนจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงอยู่ ได้แก่ เจดีดอทคอม ทริปดอทคอม และไป่ตู๋ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากไชนา เรอเนซองซ์ ชี้ว่า บริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่มีคุณสมบัติที่จะจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงเป็นตลาดที่สองได้ มีมากถึง 36 บริษัท

มอร์แกน สแตนลีย์ชี้ว่า ในช่วงต้นฮ่องกงอาจได้ประโยชน์จากพัฒนาการเช่นนี้ โดยจะมีเงินไหลเข้าตลาดในระยะยาวและช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานการลงทุนและการซื้อขายในเอเชียให้กับบริษัทจีน แต่ในที่สุด ธุรกิจจีนจะสูญเสียแบรนด์ พรีเมี่ยมที่ได้จากการจดทะเบียนในสหรัฐฯ เพราะมีการมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความโปร่งใสมากกว่าตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะเดียวกัน นักลงทุนรายย่อยในสหรัฐฯ ก็อาจจะมีวิธีเข้าถึงการลงทุนในบริษัทจีนน้อยลง

ในขณะนี้ดูเหมือนว่านักลงทุนไม่ได้วิตกมากนักกับความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพราะมันเป็นความเสี่ยงในระยะยาว และความเสี่ยงในระยะใกล้เวลานี้อยู่ที่การเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งและความสามารถในการรักษา COVID-19 มากกว่า

แต่สงครามการค้าไม่เหมือนกับปัญหาโรคระบาด หากความขัดแย้งนำไปสู่การเก็บภาษีกันอีกครั้ง มันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดเหมือนที่เราได้เห็นเมื่อปลายปี 2561 และปี 2562 ซึ่งได้ทำให้เกิดปัญหามากต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโดยรวม

ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด มันไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สองเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกจะรบกันและน่าจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเป็นพิเศษเมื่อใกล้จะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

Back to top button