“พลังงาน” จ่อเลื่อน COD รฟฟ.ขนาดเล็ก บริหารสมดุล-ลดผลกระทบค่าไฟ

"พลังงาน" จ่อเลื่อน COD รฟฟ.ขนาดเล็ก บริหารสมดุล-ลดผลกระทบค่าไฟ


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศนับว่ามีเกินความต้องการใช้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่การเติบโตของภาคเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพร้อมจะเร่งแก้ไขปัญหา

โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ด้วย ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการกำลังการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

“ในระยะสั้นหากมีการพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ออกไปเพื่อบริหารไฟฟ้าให้สมดุลกับความต้องการก็ทำได้ โดยสามารถเลื่อนเข้า เลื่อนออกให้เหมาะสมได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดู” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับเรื่องดังกล่าวภายหลังจากที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบกรณีที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมกันแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพง หลังรัฐบาลได้ทำสัญญากับภาคเอกชน จนทำให้ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีมากกว่าความต้องการใช้จริง จนทำให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากกว่า 16,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และเทคโนโลยีดังกล่าวที่กำลังมาเร็วขึ้นก็จะมีส่วนสำคัญต่อการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อถึงเวลานั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology ก็จะทำให้การใช้ไฟฟ้าเติบโตก้าวกระโดด และหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวถึงเวลานั้นไฟฟ้าที่มองว่ามีปริมาณมากในขณะนี้ อาจไม่เพียงพอก็เป็นไปได้

สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือนจำนวน 22 ล้านราย เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.63 โดยจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงพลังงานยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการต่ออายุมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกำลังพิจารณาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งคาดว่าผลกระทบจะลดน้อยลงกว่าช่วงที่ประชาชนต้องอยู่บ้าน ตามมาตรการ”อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ในช่วง 2-3 เดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าดังกล่าวสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนพ.ค. แต่ในเดือนมิ.ย.จะเป็นช่วงที่ประชาชนได้รับค่าไฟฟ้าคืนหลังจากที่ได้จ่ายค่าไฟฟ้าเต็มไปก่อนในเดือนมี.ค.63 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มได้รับการทยอยคืนค่าไฟฟ้าในบิลงวดเดือนมิ.ย. เป็นต้นไป นอกจากนี้ประชาชนยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 63

ส่วนการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติให้บริษัทเอกชนอีก 3 รายได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) นั้น ขณะนี้เอกชนรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตจะยังไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ในประเทศได้จริง โดยต้องรอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเป็นรายบริษัทอีกครั้งว่าจะอนุญาตให้นำเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าได้หรือไม่ และต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งเป็นส่วนเกินจากที่ทำสัญญาไว้กับบมจ.ปตท. (PTT) ด้วย

โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานยังไม่พิจารณาให้รายใดนำเข้า LNG เพิ่มเติมนอกจากปัจจุบันที่มีเพียงปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้ามา เนื่องจากต้องรอดูผลการทดลองนำเข้าก๊าซ LNG ของกฟผ. ที่ทดลองนำเข้ารวม 1.3 แสนตัน เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 หากการทดสอบครั้งนี้ได้ข้อสรุปแล้วจึงจะพิจารณาภาพรวมการนำเข้า LNG ของรายใหม่ต่อไป ดังนั้น ยังเร็วไปที่จะสรุปได้ว่าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 จะให้เอกชนนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าของตังเองได้หรือไม่

ทั้งนี้ การพิจารณาว่าจะให้เอกชนรายใดนำเข้า LNG จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)  และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รวมถึงต้องมีการหารือกับปตท. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการด้านท่อก๊าซฯด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐจะพิจารณาคือผลกระทบที่จะเกิดกับค่าไฟฟ้าของประชาชน ก่อนจะพิจารณาว่าผู้ประกอบการรายใดจะได้นำเข้ามา

สำหรับนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ แบ่งเป็น เปิดให้นำเข้าเพื่อใช้เอง และเปิดให้นำเข้าเพื่อส่งออก ซึ่งในส่วนของการนำเข้าเพื่อส่งออกได้ให้ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การซื้อขายก๊าซในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าปลายปี 63 นี้ จะเริ่มนำเข้าเพื่อส่งออกได้

Back to top button