สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 พ.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 พ.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกงเพื่อตอบโต้จีนที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง แต่นักลงทุนมองว่า มาตรการตอบโต้ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐน้อยกว่าที่วิตกกัน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,383.11 จุด ลดลง 17.53 จุด หรือ -0.07% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,044.31 จุด เพิ่มขึ้น 14.58 จุด หรือ +0.48% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,489.87 จุด เพิ่มขึ้น 120.88 จุด หรือ +1.29%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐจะประกาศมาตรการตอบโต้จีนในกรณีที่จีนเตรียมบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.44% ปิดที่ 350.36 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,695.44 จุด ลดลง 75.95 จุด หรือ -1.59%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,586.85 จุด ลดลง 194.28 จุด หรือ -1.65% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,076.60 จุด ลดลง 142.19 จุด หรือ -2.29%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะดำเนินมาตรการตอบโต้จีนกรณีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,076.60 จุด ร่วงลง 142.19 จุด หรือ -2.29%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 5% เมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) และปรับตัวขึ้นในเดือนพ.ค.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนยังคงมีความหวังว่า สหรัฐ-จีนจะยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกต่อไป แม้สหรัฐประกาศยกเลิกสถานะพิเศษด้านการค้าของฮ่องกงเพื่อตอบโต้จีนที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงก็ตาม นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงทั่วโลกได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 1.78 ดอลลาร์ หรือ 5.3% ปิดที่ 35.49 ดอลลาร์/บาร์เรล และพุ่งขึ้น 88.4% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 4 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 35.33 ดอลลาร์/บาร์เรล และพุ่งขึ้น 39.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2542

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐขู่ตอบโต้จีนที่จะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง และจากความวิตกที่ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 23.40 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ 1,751.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 53.2 เซนต์ หรือ 2.96% ปิดที่ 18.499 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.75% ปิดที่ 874.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 26.40 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 1,972.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์จากความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน และหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.06% สู่ระดับ 98.3271 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9617 ฟรังก์ จากระดับ 0.9634 ฟรังก์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.79 เยน จากระดับ 107.64 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3777 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3760 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1102 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1089 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6664 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6658 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.2327 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2340 ดอลลาร์

Back to top button