“ทรีนีตี้” เคาะ 22 หุ้นเด็ด! เน้นหลบภัย ลดเสี่ยงขัดแย้ง “จีน-สหรัฐฯ”

“ทรีนีตี้” เคาะ 22 หุ้นเด็ดเน้นหลบภัย ลดเสี่ยงขัดแย้ง “จีน-สหรัฐฯ”


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยมุมมองการลงทุนเดือน มิ.ย.63 ว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯที่มีโอกาสพัฒนาไปสู่สงครามการค้ารอบสอง เป็นปัจจัยที่จะมีน้ำหนักต่อการลงทุนของตลาดหุ้นมากขึ้น หลังสภาประชาชนแห่งชาติของจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมาระหว่างสองประเทศ

ทั้งสหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำกับบริษัทจีนบางแห่ง และจีนตอบโต้ด้วยการกำหนดค่ากลางเงินหยวนให้อ่อนค่ามากขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แนะจับตาค่ากลางเงินหยวนนี้อย่างใกล้ชิด หากอ่อนค่ามากขึ้นจะเป็นสัญญาณไม่ดีถึงโอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมาขึ้นบัญชีดำจีนกรณีบิดเบือนค่าเงิน และออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่างๆ ได้

โดยภาวะเช่นนี้ แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และหลบเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มปลอดภัยจากปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่

  1. กลุ่มโรงไฟฟ้า แนะนำ BGRIM, GPSC, GULF, RATCH, EGCO
  2. กลุ่มสื่อสาร แนะนำ ADVANC, INTUCH
  3. กลุ่มขนส่งมวลชน แนะนำ BTS, BEM
  4. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร แนะนำ CPF สำหรับหุ้นใหญ่ และ TFG, GFPT, ASIAN, CFRESH, CHOTI, APURE, SUN, RBF, XO, MALEE สำหรับหุ้นขนาดกลาง-เล็ก
  5. กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ แนะนำ JMT
  6. กลุ่มเหมาะเก็งกำไรบนธีมย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้า เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แนะนำ AMATA

สำหรับดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่แพงแล้ว เพราะซื้อขายด้วยระดับ Forward P/E สูงถึง 20 เท่า สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นั่นหมายความว่าดัชนีในปัจจุบันนั้นเป็นการซื้อขายที่อิงกำไรตลาดในปีหน้าไปแล้ว จึงต้องลงทุนด้วยความระวังและถือเงินสดไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนกรอบดัชนีเดือนนี้ มองกรณีดีสุดที่ 1,420 จุด กรณีฐาน 1,330 จุด และกรณีแย่สุดที่ 1,240  จุด อิงระดับประมาณการ EPS ปีหน้าที่ 84.3 บาท

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าดัชนียังจะปรับฐานแรง ๆ ได้ยากในเดือนนี้ เนื่องจากถูกประคับประคอง ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ไม่มีอิทธิพลใดๆ เนื่องจากระดับการถือครองตอนนี้อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ , มาตรการ Uptick rule ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำให้มูลค่า Short sales หายไปจากตลาดวันละ 4-5 พันล้านบาท และการเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป ที่ล่าสุดอยู่ในระดับราว 50% ของวอลุ่มการซื้อขายรายวันแล้ว

“เหตุที่นักลงทุนกล้าเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เป็นผลมาจากเงินบางส่วนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นกู้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามีประเด็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและด้านเครดิตสูงขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตรภายในประเทศก็อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนกล้าที่จะออกไปแสวงหาการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นนั่นเอง” นายณัฐชาต กล่าว

นายณัฐชาต กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่นักลงทุนทั่วไปมีบทบาท แนะนำให้กระจายเงินลงทุนบางส่วนไปยังหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า เนื่องจากกำไรหุ้นกลุ่มนี้มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่ากำไรหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ที่ยังเสี่ยงถูกลดประมาณการ นอกจากนี้หุ้นขนาดกลางและเล็ก ซื้อขายต่ำกว่าตลาดมากว่า 3 ปี P/E ยังถูก และมีโอกาสที่กำไรจะเติบโต 50% ในปีหน้า ในขณะที่กำไรหุ้นขนาดใหญ่จะเติบโตเพียง 20% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในเดือนนี้ ได้แก่ การประกาศรายชื่อหุ้นที่จะนำเข้า-ออก SET50 และ SET100 ที่จะมีผลในเดือน ก.ค.เป็นต้นไป คาดว่าหุ้นที่จะนำเข้าคำนวณใน SET50   คือ TTW, BBP ส่วนที่จะถูกถอดคือ WHA และ BANPU สำหรับ SET100 หุ้นที่คาดว่าจะนำเข้าคำนวณคือ ACE, TVO, WHAUP, DOHOME, SIRI, RBF, SISB ส่วนหุ้นที่จะถูกถอดออกคือ MBK, THG, THAI, ERW, STPI, BGC, และ PSL

Back to top button