เส้นทางของคอนเนคชั่นแมน

ประพล มิลินทจินดา ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์เชิงอำนาจ-ธุรกิจ ด้วยเส้นทางซับซ้อนในสังคมไทย แต่บนเส้นทางของธุรกิจหลักทรัพย์ในฐานะ “ผู้มาทีหลัง” ถือว่ายังอ่อนหัดมาก


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ประพล มิลินทจินดา ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์เชิงอำนาจ-ธุรกิจ ด้วยเส้นทางซับซ้อนในสังคมไทย แต่บนเส้นทางของธุรกิจหลักทรัพย์ในฐานะ ผู้มาทีหลัง ถือว่ายังอ่อนหัดมาก

ชะตากรรมลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ที่ประพลและพวกไปรับเซ้งต่อมาจากบล.ยูไนเต็ด (เดิม) ที่ไม่เคยบันทึกกำไรสุทธิเลยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาเมื่อ 6 ปีก่อน จนกระทั่งล่าสุดถูกคำสั่ง ระงับดำเนินกิจการบางส่วน คือภาพสะท้อนความอ่อนหัดที่ตอกย้ำว่าสายสัมพันธ์ทางอำนาจ อาจจะไม่ได้ช่วยเท่าใดนักเมื่อธุรกิจของกิจการออกมาต่ำกว่ามาตรฐาน

คำสั่งล่าสุดของก.ล.ต.แม้จะไม่ใช่ คำสั่งประหารชีวิต แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการ ตัดแขนขา ที่จะทำให้ยากจะดำเนินการต่อไปในอนาคต

เหตุผลของ ก.ล.ต. ก็ชัดเจนที่สะท้อนภาพล่าสุดของบล.เออีซี ภายใต้การบริหารของ มืออาชีพ ที่ประพล ไม่ได้รับผิดชอบโดยนิตินัย(แม้ยังคงสถานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดิม)

ก.ล.ต.ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ว่า AEC มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องระงับการดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และขอให้บริษัทชี้แจงการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลดังกล่าวกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความสามารถในการประกอบธุรกิจของบริษัทในฐานะบริษัทหลักทรัพย์ ยังผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “H” หลักทรัพย์ของ AEC เพื่อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทชั่วคราว และเมื่อเปิดทำการซื้อขายมา ราคาหุ้นของ AEC ก็ร่วงลงมาต่ำกว่า 0.20 บาท

ราคาหุ้นที่ต่ำกว่าบุ๊กแวลูดังกล่าว เมื่อเทียบดูโอกาสในอนาคตแล้วถือว่าชวนสยองมากกว่าชวนสยิวแน่นอน

ชะตากรรมของ AEC จากนี้ไป อาจจะไม่ใช่ชะตากรรมของประพล แต่ก็ยากจะคาดเดาทางบวกเมื่อหวนย้อนถึงที่มาที่ไปของบล.ดังกล่าว

ประพล มิลินทจินดา มีประวัติการทำงานดีไม่มีประวัติเป็น คอนเนคชั่น แมน จนถึงขั้นเคยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในรัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2551 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2554 เท่านั้น ก่อนที่จะยุติเส้นทางข้าราชการทางการเมืองมาทุ่มเงินเข้าครอบงำบล.เออีซี จำกัด (มหาชน)

ประเด็นปัญหาคือ นับตั้งแต่กรณี รับน้องใหม่โบรกเกอร์ อันอื้อฉาวในปี 2557 เป็นต้นมา บล.แห่งนี้ไม่ได้มีกำไรสุทธิเลย แล้วยังมีเรื่องอื้อฉาวอื่น ๆ อีกหลายครั้ง แม้จะพยายาม เปลี่ยนหน้าผู้บริหารหลายรอบ และปรับกลยุทธ์หลายครั้ง จนประพลต้องหลบไปเป็น เงา เบื้องหลังจนถึงปัจจุบัน

กรณีล่าสุด ที่ทำให้มีปัญหาคือเอกสารชี้แจง บล.เออีซีเองที่ยอมรับเองว่า เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

สาเหตุหลัก เนื่องจากว่าในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ NC ของบริษัทจะต้องคำนวณ Large Exposure Risk-“LER” วิธีที่ 2 ตามประกาศที่ สธ. 50/2560 และ สธ.61/2562 เรื่อง การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ซึ่งบริษัทได้มีการลงทุนในหุ้นกู้บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งถูกลด credit rating จาก A เป็น C อย่างกะทันหัน

รวมถึงหุ้นกู้อื่นที่ถือ ถึงแม้จะเป็น Investment grade ที่สูงมากในระดับไม่ต่ำกว่า BBB ถึง AA ได้แก่หุ้นกู้บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP), บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA), บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีฐานะการเงินมั่นคงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นกู้ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) สัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 100%) และหุ้นกู้ TBEV ซึ่งเป็นหุ้นกู้ของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ด้วยการลงทุนในหุ้นกู้ข้างต้นมีมูลค่าในแต่ละรายการในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัท จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องคำนวณค่าความเสี่ยง LER วิธีที่ 2 โดยปรับค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัทเป็น 100% ทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวไม่สามารถนับเป็น liquid asset ตามหลักการ NC ได้ทั้งจำนวน ถึงแม้ว่าผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวยังมีฐานะการเงินมั่นคงและมี credit rating ดี และยังคงคาดว่าจะได้รับการชำระหนี้คืน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ NC และ NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

พูดสั้น ๆ คือ การตัดสินใจลงทุนทำธุรกรรมมีปัญหาขึ้นมา จนกระทั่ง ก.ล.ต.เห็นว่าจะไปไม่รอดสันดอนจึงเข้ามาดัดสันดาน แทน

งานนี้ ชะตากรรมของบล.เออีซีคงหนีไม่พ้นถูกเทกโอเวอร์ และประพลคงหายหน้าจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สถาบันการเงินนี้ไป ……เข้าข่าย สมบัติผลัดกันชม

กรณีเช่นนี้ เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ว่า คอนเนคชั่นแมน ไม่เพียงพอสำหรับการบริหารสถาบันการเงิน

Back to top button