“สทนช.” เผย 4 ชาติสมาชิก เร่งหารือ แผนพัฒนาลุ่มน้ำโขง หลังวิกฤต “โควิด” ทำล่าช้า

"สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" (สทนช.)​ เผย 4 ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขง เร่งหารือแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขง แก้ภัยแล้ง หลังวิกฤต "โควิด" ทำล่าช้า


นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สมัยวิสามัญ (The Special Session for the MRC Joint Committee -SSJC) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม (JC Chair) ปี 2563

ทั้งนี้ เป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม โดยนายสมเกียรติ ระบุว่า ประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2564 – 2573) และการวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติระดับมนตรีและจัดหาแหล่งเงินในการดำเนินกิจกรรมต่อไป

เพื่อให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนปฏิบัติการของแต่ละประเทศในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดความยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการด้านภัยแล้งและน้ำท่วม โดยมีการวิเคราะห์แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจควบคู่กันด้วย

2. เห็นชอบให้มีการปรับปรุง กิจกรรม แผนงานที่ยังค้างหรืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2563 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยส่งผลกระทบต่อการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศสมาชิกที่ต้องเลื่อนออกไป ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ซึ่งล้วนส่งผลต่อความล่าช้าในแผนงานโครงการ รวมถึงแผนการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบความร่วมมือ และกรอบระยะเวลาดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย

“จากการหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ได้มีมติร่วมกันในการเร่งปรับแผนงานโครงการ โดยจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการ และงบประมาณ เพื่อการดำเนินงานในปีนี้เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงมอบให้ MRCS เตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปี ของปี 2564 ให้สอดคล้องกับงบประมาณดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจจะล่าช้าและส่งผลต่อการดำเนินการงานต่อเนื่องของปีนี้ด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว

ส่วนประเด็นที่ 3 ประเด็นสุดท้าย คือพิจารณากระบวนการปรึกษาหารือของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ได้เสร็จสิ้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนของประเทศสมาชิกแล้ว

โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) จะนำเข้าสู่การแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ของประเทศสมาชิกประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อหามาตรการในการป้องกันผลกระทบผ่านการวางแผนก่อสร้างและออกแบบรูปแบบของเขื่อนให้ชัดเจน

อนึ่ง ทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชา ในฐานะประเทศสมาชิกที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน เห็นตรงกันว่าก่อนเริ่มการก่อสร้าง ประเทศสมาชิกจะต้องมีข้อตกลงร่วมกัน (Joint Action Plan- JAP) ต่อไป

สำหรับข้อเสนอ ของ สปป.ลาว ต่อการสร้างเขื่อนสะนะคาม ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย ราว 23 กิโลเมตร นั้น จะยังไม่เริ่มกระบวนการรับฟังความเห็น จนกว่าจะได้ข้อยุติของการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง

Back to top button