เงินท่วมตลาดหุ้น

วานนี้มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยมีจำนวน 77,422 ล้านบาท


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยมีจำนวน 77,422 ล้านบาท

ตัวเลขนี้หากเทียบกับ 4 วัน (ทำการ) ก่อนหน้านี้

อาจจะดูไม่มากนัก

เพราะ 4 วันที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายต่อวันมากกว่า 1 แสนล้านบาททุกวัน

และนับเป็นครั้งแรกนับจากตลาดหุ้นไทยเปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน 2518 ที่มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 1 แสนล้านบาทเป็นเวลา 4 วัน (ทำการ) ติดต่อกัน

เริ่มจาก 4 มิ.ย. 63 มูลค่าการซื้อขาย 122,562 ล้านบาท

5 มิ.ย. 63  มูลค่าการซื้อขาย 120,331 ล้านบาท

8 มิ.ย. 63 มูลค่าการซื้อขาย 105,398 ล้านบาท

และ 9 มิ.ย. 63 มูลค่าการซื้อขาย 115,559 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าการซื้อขายเมื่อวานนี้ที่ร่วงลงไปต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

น่าจะมีปัจจัยมาจากนักลงทุนเฝ้ารอการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดว่า จะมีปฏิกิริยาอย่างไรในการประชุมเมื่อคืนนี้ (10 มิ.ย.)

ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น

บรรดานักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่า ไม่น่าจะมีการขยับอะไร

เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00%-0.25%

ทว่า สิ่งที่นักลงทุนเฝ้ารอคือ “รายงานสรุปคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ” หรือ SEP ที่มีเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การว่างงาน และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ตัวเลขที่ว่านี้ เดิมนั้น เฟดจะต้องเปิดเผยตั้งแต่เดือน มี.ค. 63

แต่กลับเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19

ทำให้เจ้าหน้าที่เฟดไม่สามารถคาดการณ์เศรษฐกิจออกมาได้

ผ่านมาถึงวันนี้ ตอนนี้

นักลงทุนน่าจะรับทราบการประกาศตัวเลขทั้งหมดแล้วล่ะ

และน่าจะทำให้ปัจจัยที่จะนำมาใช้ตัดสินใจต่อการลงทุนชัดเจนขึ้น

ส่วนมูลค่าการซื้อขายจะกลับมาเกินกว่าระดับ 1 แสนล้านบาทต่ออีกหรือไม่ ต้องมาลุ้นกันต่อ

มูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และต่อเนื่อง

นั่นทำให้จากต้นเดือนเม.ย. 63–10 มิ.ย. 63 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันน่าจะอยู่ราว ๆ 7.06 หมื่นล้านบาท

ถือว่าค่อนข้างสูงพอสมควร

มูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาจากสาเหตุสำคัญ คือ โยกเงินออกจากตลาดเงิน เข้ามาลงทุนยังสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นกันมากขึ้น

สาเหตุเพราะดอกเบี้ยเงินฝากที่ลงมาต่ำมาก

ส่วนตลาดตราสารหนี้เองกำลังเผชิญกับความผันผวน และมีความเสี่ยงเช่นกันในช่วงเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน

เมื่อดีดลูกคิดคำนวณดูแล้ว

การลงทุนในตลาดหุ้น น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ทำให้เกิดการเล็งกลุ่มหุ้นที่ราคายังแลกการ์ด หรือมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ก่อน

ส่วนเงินที่ถูกโยกออกมายังตลาดหุ้น

ก็มีมาจากทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนต่างประเทศ

ส่วนนักลงทุนสถาบัน ก็น่าจะมีการปรับพอร์ต โยกเงินเข้ามาลงทุนเช่นกัน ในกลุ่มหุ้นที่ราคายังแลกการ์ด

โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์

นี่หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 0.25%

น่าจะเห็นเม็ดเงินถูกโยกออกมาจากตลาดเงินอีกพอสมควร

พร้อมกับให้รอดูตัวเลขการเปิดพอร์ตของรายย่อย (นักลงทุนหน้าใหม่) ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.)

เพราะมีข่าวว่า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยล่ะ

Back to top button