สภาวะการพักชำระหนี้

หลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ใน “กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้” คือแนวคิดในเรื่องของ “สภาวะการพักชำระหนี้”


Cap & Corp Forum

หมวด 3/1 (มาตรา 90/1 ถึงมาตรา 90/90) ของบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (Rehabilitation/reorganizationProcedure) ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ในปี 2541 โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย และต่อมาในปี 2559 ได้มีการเพิ่มเติมหมวด 3/2 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาตรา 90/91 ถึงมาตรา 90/128 โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 เพื่อให้กฎหมายครอบคลุมถึงกระบวนการฟื้นฟูกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย

หลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ใน “กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้” คือแนวคิดในเรื่องของ “สภาวะการพักชำระหนี้” (Moratorium หรือ Automatic Stay) โดยกฎหมายล้มละลายมีบทบัญญัติที่กำหนดสภาวะหยุดนิ่งหรือการพักชำระหนี้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและลดความกดดันทางการเงินจากการถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์สินหรือหลักประกัน (แนวคำคำพิพากษาฎีกาที่ 2125/2548 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2548)

โดยหลักการพักชำระหนี้ที่สำคัญถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 โดยกฎหมายกำหนดให้นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด กฎหมายห้ามมิให้เจ้าหนี้หรือบุคคลใด ๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้

(2) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น

(3) ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหาย ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้วให้งดการพิจารณาไว้เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นหรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอหรือการบังคับคดีตามคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น

(6) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอหรือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน

(7) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

(8) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่ายจ่ายโอนให้เช่าชำระหนี้ก่อหนี้หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(10) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึดอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้นให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป

(11) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน

อย่างไรก็ตามหลักการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายไทยและอาจใช้บังคับได้ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ไม่มีผลเป็นการห้ามหน่วยงานของรัฐในประเทศอื่นหรือศาลของประเทศอื่นในการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ได้ อาทิ กรณีของบริษัทการบินไทยที่เกิดขึ้น หากมีการนำเครื่องบินไปจอดในต่างประเทศหรือทำการบินในต่างประเทศ สภาวะการพักชำระหนี้ก็ไม่สามารถคุ้มครองการบินไทยจากการถูกเจ้าหนี้ต่างประเทศในการบังคับชำระหนี้ด้วยการยึดหรืออายัดเครื่องบินที่จอดอยู่ ณ สนามบินต่างประเทศได้

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Back to top button