ตลท.ย้ายกลุ่มอุตสาหกรรม-หมวดธุรกิจ 8 บจ. หลังปรับโครงสร้างรายได้ มีผล 1 ก.ค.

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดแนวทางในการทบทว …


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดแนวทางในการทบทวนและปรับย้ายกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน โดยพิจารณาจัดตามประเภทธุรกิจที่สร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้บริษัทเป็นสำคัญ และจะทบทวนความเหมาะสมของกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้จากการพิจารณาโครงสร้างรายได้และลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนประกอบกับข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2562 (แบบ 56-1) และงบการเงินประจำปี 2562 พบว่ามีบริษัทที่โครงสร้างรายได้และลักษณะการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ตลท.จึงปรับปรับย้ายบริษัทให้อยู่กลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 7 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 1 บริษัท ดังนี้

บริษัทที่จดทะเบียนใน SET

  1. บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น (APCS) มีรายได้หลักจากธุรกิจงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง (Engineering Procurement and Construction : EPC) จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) หมวดธุรกิจยานยนต์ (Automotive) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) หมวดธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง (Construction Services)
  2. บมจ. ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ (CHOTI) มีรายได้หลักจากธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
  3. บมจ. อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจโดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (Services) หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media & Publishing) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities)
  4. บมจ. กรีน รีซอร์สเซส (GREEN) มีรายได้หลักจากธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities)
  5. บมจ. แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) มีรายได้หลักจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) หมวดธุรกิจเหล็ก (Steel) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)
  6. บมจ. ผาแดงอินดัสทรี (PDI) มีรายได้หลักจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) หมวดเหมืองแร่ (Mining) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities)
  7. บมจ. ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) มีรายได้หลักจากธุรกิจบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้าง จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (Service) หมวดธุรกิจบริการเฉพาะกิจ (Professional Services) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) หมวดธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง (Construction Services)

บริษัทที่จดทะเบียนในตลาด mai

  1. บมจ. ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) มีรายได้หลักจากการลงทุนในธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค จึงปรับย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology) ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources)

ทั้งนี้ การปรับย้ายกลุ่มอุตสาหกรรม และหมวดธุรกิจของบริษัทข้างต้น ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป

 

 

Back to top button