‘ตาอยู่’ ท่อร้อยสายสื่อสาร.?

จบสิ้นภารกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรณีประมูลชิงคลื่นความถี่ 26 GHz เพื่อให้บริการระบบ 5G แข่งกับค่ายเอกชน เมื่อกลางเดือนก.พ. 63 ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นพิมพ์เขียวแผนการลงทุนหรือแผนการให้บริการเกี่ยวกับ 5G ให้กับประชาชนที่ชัดเจน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ใช้เป็นข้ออ้างสั่งการให้ทีโอที เข้าร่วมประมูลเลย


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

จบสิ้นภารกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรณีประมูลชิงคลื่นความถี่ 26 GHz เพื่อให้บริการระบบ 5G แข่งกับค่ายเอกชน เมื่อกลางเดือนก.พ. 63 ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นพิมพ์เขียวแผนการลงทุนหรือแผนการให้บริการเกี่ยวกับ 5G ให้กับประชาชนที่ชัดเจน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ใช้เป็นข้ออ้างสั่งการให้ทีโอที เข้าร่วมประมูลเลย

จนเป็นที่น่าจับตากันต่อว่า สุดท้ายคลื่น 26 GHz ที่ทีโอที ชนะประมูลมาด้วยตัวเลขเกือบ 1,800 ล้านบาท จะ “ปล่อยเช่าช่วง” ให้เอกชนมาร่วมหรือเอาไปบริหารจัดการ โดยทีโอที รอแบ่งปันส่วนแบ่งรายได้และกำไร เหมือนดั่งคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ปล่อยให้ค่ายดีแทค ร่วมบริหารจัดการนั่นเอง

สุดท้ายเรื่อง “คลื่นความถี่ 26 GHz” จะได้ทำหรือจะทำหรือจะลงเอยอย่างไร..อีกไม่นานคงจะได้รู้กัน

แต่ล่าสุดมีปมร้อน! ว่าด้วยเรื่อง “ท่อร้อยสายสื่อสาร” ขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อมีรายงานว่า “ทีโอที” เปิดโต๊ะเจรจากับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรุงเทพมหานคร กรณีปัญหาการ “นำสายสื่อสารลงใต้ดิน” เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยทีโอที ยืนยันว่า “พร้อมให้บริการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน 12 เส้นทางนำร่อง” ที่ได้มีการวางโครงข่ายไว้แล้ว และเปิดทางให้กทม.เข้ามาเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของทีโอที และเคลมว่าได้รับการขานรับและสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ที่กำกับดูแลนโยบายนี้ด้วยตนเอง

ภายใต้การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ตามนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสาร บนแนวคิดมหานครแห่งอาเซียนโครงการ Smart City นั่นเอง

ว่ากันว่าที่ผ่านมา ค่ายสื่อสารต่าง ๆ รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย มีการพาดสายสื่อสาร โดยไม่ได้ขออนุญาตจากกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการพาดสายกันอย่างเสรี จนต้องมีนโยบายจัดระเบียบสายสื่อสารดังกล่าว

แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ ก่อนหน้านี้กทม.และบริษัท เคที วิสาหกิจ จำกัด (บริษัทของกทม.) จะบังคับให้ทุกรายต้องเช่าใช้โครงข่ายท่อร้อยสายใต้ดิน ที่บริษัท เคทีฯ จะลงทุนเอง และให้บริษัทสื่อสารรายหนึ่งเหมาทำการตลาด จึงทำให้ผู้ให้บริการรายอื่นพากันคัดค้าน

ก่อนที่กสทช.สั่งเบรกกทม.ว่าไม่สามารถ “ปล่อยขายสิทธิ์” ท่อร้อยสายสื่อสารออกไปให้รายอื่น ๆ เพื่อทำการตลาดหรือให้บริการแทนได้..!

น่าสนใจว่า กรณีทีโอทีประกาศความพร้อมให้บริการท่อร้อยสายสื่อสารครั้งนี้ กำลังมีความพยายาม “ขายท่อร้อยสายสื่อสาร” ให้กทม.นำไปบริหารหรือไม่.!?

หากเป็นเช่นนั้นจริง..อาจถูกคัดค้านว่าไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับกรณีกทม.กับบริษัท เคทีฯ ที่ประกาศลงทุนท่อร้อยสายสื่อสารและขายสิทธิ์ให้บริษัทสื่อสารรายหนึ่งเข้ามาทำการตลาดแทน ที่กสทช.เคยสั่งเบรกมาแล้ว.!

น่าสนใจว่า..หาก “ทีโอที” ใช้วิธีดึง “ตาอยู่” (บริษัทสื่อสารบางราย) มาร่วมทุนซะเลย แทนขายสิทธิ์ไปทำการ ตลาด กรณีนี้จะเข้าข่ายทำได้หรือไม่ เพราะศักยภาพการทำการตลาดของทีโอทีในอดีตที่ผ่านมา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กันมาแล้วว่าด้วยบริบทความเป็นรัฐวิสาหกิจ..ยังไงก็สู้เอกชนไม่ได้จริง ๆ..!!

Back to top button