ที่ปรึกษา EEC คาดเม็ดเงินลงทุน “อู่ตะเภา-เมืองการบินฯ” 1.3 แสนลบ. ประเดิมเฟสแรกปี 67

ที่ปรึกษา EEC คาดเม็ดเงินลงทุน "อู่ตะเภา-เมืองการบินฯ" 1.3 แสนลบ. ประเดิมเฟสแรกปี 67


นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนโครงการเบื้องต้นอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท และหากนับรวมกับการซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายปรับปรุงสนามบินจะเป็นกว่า 2 แสนล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี

โดยโครงการนี้ฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ภายใต้กลุ่มบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือสัดส่วน 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือสัดส่วน 35% และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือสัดส่วน 20%

สำหรับการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรก หรือเฟสแรก จะใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่ 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 67 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 73 โดยประมาณการว่าจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30  ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 85 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 98 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

สำหรับเงื่อนไขที่ทำความตกลงกับเอกชนไว้ หากมีจำนวนผู้โดยสารเฟสแรกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประมาณการที่ 15.9 ล้านคน หรือ 80% ขึ้นไป จะเริ่มงานก่อสร้างในเฟส 2 ทันทีเพื่อรองรับกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเฟสแรกคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่ง หรือ 18 เดือนในการออกแบบ และเคลียร์พื้นที่เพื่อส่งมอบให้โครงการฯ รวมถึงวางแผนงานก่อสร้าง จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี รวมแล้วกว่า 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 67

ด้าน พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ เลขานุการและกรรมการคัดเลือก โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 หรือรันเวย์ 2 ซึ่งมีความยาว 3,500 เมตร ทางกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างว่า งานก่อสร้างรันเวย์ 2 เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA

โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นฯจากประชาชนโดยรอบโครงการฯ แล้ว 2 ครั้ง และคาดว่าจะจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือน ส.ค. 63 ที่จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นฯครั้งสุดท้ายของกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ก่อนนำส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป

ขณะเดียวกันได้ดำเนินการคู่ขนานการประมูลงานก่อสร้างรันเวย์ 2 มูลค่าดครงการ 1.7 หมื่นล้านบาทซึ่งดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63  รอให้รายงาน EHIA ผ่านจึงคาดว่าก็จะสามารถลงนามสัญญาได้ในปี 64 และต้นปี 67 คาดว่าจะสร้างเสร็จ

 

ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร BTS กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีความหนักใจเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งเรื่องจุดเชื่อมต่อและการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งได้มีการเจรจากันบ้างแล้วที่จะมีขั้นตอนทำงานร่วมกัน และได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะไม่ล่าช้ากว่าแผน

ส่วนเมืองการบิน ในเฟสแรกคาดว่าจะมีห้างสรรพสินค้าและร้านดิวตี้ฟรีด้วย แต่คงต้องหารือกับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ว่ากลุ่มบีบีเอสจะบริหารเองหรือจะให้พันธมิตรอื่นเข้ามาดำเนินการ ขณะที่จะให้ บมจ.วีจีไอ (VGI) เข้ามาทำป้ายโฆษณาภายในสนามบิน ส่วน บริษัท เคอร์รี่ จะให้ดำเนินกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเชิงพาณิชย์ในเมืองการบิน จะมีการหารือภายในกลุ่มบีบีเอสจะดำเนินการเองไหรือจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมในแต่ละกิจกรรม

นอกจากนี้ กลุ่มบีบีเอส ยังสนใจลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานในเฟส 2 โดยคาดวา BA จะเป็นแกนนำที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งศูนย์ซ่อมนี้จะเป็นคนละส่วนกับของ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานเช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมอากาศยานในเฟส 2 จะเน้นเครื่องบินลำตัวแคบเป็นหลัก

ทั้งนี้ในเรื่องแหล่งเงินทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะภา จะมาจากส่วนทุน 1 ส่วน และเงินกู้ธนาคาร 3 ส่วน หรือ 1:3  ซึ่งเป็นปกติของทำโครงการ

 

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA กล่าวว่า กลุ่มบีบีเอสคาดว่าโครงการเฟสแรกจะถึงคุ้มทุนภายใน 10 ปี โดยปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภามีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร จำนวนผู้โดยสาร 2-3 ล้านคน คาดว่าในอีก 4-5 ปี หรือในปีที่เปิดบริการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 จะมีจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 5-6 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 16 ล้านคนภายใน  10 ปี หรือภายในปี 77

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวที่ทำให้คนกลัวการเดินทาง แต่เชื่อมั่นว่าการเดินทางจะยังเติบโตได้อีก ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานจะนำบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในระยะต่อไป

อีกทั้งกลุ่มบีบีเอส ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลกเข้ามาร่วมการบริหารสนามบินอู่ตะเภา ในเบื้องต้นจะทำสัญญาระยะเวลา 10 ปี ซึ่งอยู่ระหว่งการเจรจาก่อนลงนามสัญญากัน  โดยสนามบินนาริตะจะเริ่มร่วมงานตั้งแต่แรก อาทิเช่น การออกแบบ, การไหลเวียนของผู้โดยสารภายในอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น

นอกจากนี้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้ร่วมในส่วนการลงทุนขยายโครงข่าย 5G ภายในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินด้วย

ทั้งนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่พึ่งพิงกันเพราะมีการรับส่งผู้โดยสารระหว่างกัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจากทั้ง 2 โครงการเพื่อร่วมกันทำงาน โดยมีกรอบกำหนดพื้นที่ร่วมกัน กำหนดแบบก่อสร้าง เพื่อให้การบริการเป็นประโยชน์ผู้ใช้บริการ กำหนดเทคนิคการก่อสร้างร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งแผนธุรกิจให้มีทิศทางเดียวกัน ไม่ให้กระทบกับผู้ใช้บริการ

Back to top button