3 กูรูการเงินอาเซียน ยกเทคโนโลยีดิจิทัล กุญแจสำคัญ ฟื้นศก. หลังวิกฤต “โควิด”

3 กูรูการเงินอาเซียน ยกเทคโนโลยีดิจิทัล กุญแจสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ หลังเผชิญวิกฤต “โควิด”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สามผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการเงินจากอินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่อาเซียนควรดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจของตนฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้สำเร็จ

ทุกวิกฤตล้วนมาพร้อมโอกาสเสมอ

กีตา วีร์ยาวาน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มบริษัท Ancora Group เปิดเผยในการประชุม Techsauce Virtual Summit 2020 ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อุปสงค์ซบเซา ผลิตภาพลดลง และยังทำให้เงินเฟ้อต่ำ ในบางกรณีอาจถึงขั้นเงินฝืดด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เท่ากันด้วย ซึ่งส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินหน้าอย่างไม่สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ดี ทุกวิกฤติล้วนมาพร้อมโอกาสเสมอ โดยอินโดนีเซียมีสิ่งหนึ่งที่กีตามองว่าสามารถนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบการเงินให้มีความทั่วถึงมากขึ้น

กีตา เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินเพียง 49% เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่สูงถึง 98% และยังน้อยกว่ามาเลเซียและไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้น่าจะทำให้ชาวอินโดนีเซียเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่กีตาเชื่อว่า จะมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่แพ้เทคโนโลยีดิจิทัล คือ คน โดยประชากรอินโดนีเซียราว 50% อยู่ในกลุ่มที่มีอายุไม่มาก ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ได้รับการอบรมในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ก็จะทำให้อินโดนีเซียมีศักยภาพมากขึ้น โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก และหากสามารถขับเคลื่อนคนจำนวนมากนี้ไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เศรษฐกิจของประเทศก็จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ความโปร่งใสคือหัวใจสำคัญช่วงโควิด-19

ด้านกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำเพื่อให้อยู่รอดหลังโควิด-19 โดยกรณ์มองว่า ภาคเอกชนนั้นทำได้ดีแล้วในเรื่องนี้ แต่ที่น่ากังวลคือหน่วยงานรัฐบาลซึ่งยังคงล้าหลัง อย่างไรก็ดี ภาครัฐก็ไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะการเข้ามาของโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้ภาครัฐหันมามองเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น

นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว กรณ์ ยังได้ชี้แนะสิ่งที่ควรพิจารณาอีก 2 ข้อ นั่นคือการบริหารจัดการความเสี่ยงและการสร้างความเชื่อมั่น ในส่วนของการบริหารความเสี่ยงนั้น กรณ์ได้ยกตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลาย ๆ คนเมื่อได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็อาจมีภาพของการทำเกษตรติดตามา แต่กรณ์ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตทำการเกษตรในชนบท แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมแล้วรู้จักกระจายความเสี่ยง

ส่วนในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นนั้น ความโปร่งใสคือหัวใจสำคัญ โดยกรณ์เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความหวาดกลัว การสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากวิกฤตินี้

นอกจากนี้ กรณ์ยังเปิดเผยด้วยว่า การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจมีทัศนคติในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป จนก่อให้เกิดแนวทางดำเนินงานแบบใหม่ ๆ และยังได้ชูให้เห็นความสำคัญในการทำงานแบบ Agile เพื่อให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และสำหรับภาครัฐนั้น แนะนำให้มีการกระจายอำนาจไปยังระดับท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ควรให้กระจุกอยู่แต่ศูนย์กลาง เพราะจะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า

Cash Flow, Customer Flow และ Capital Flow

ซอปเนนดู โมฮานตี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายฟินเทคของธนาคารกลางสิงคโปร์ เปิดเผยว่า การเข้ามาของโควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าความยืดหยุ่นและความยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงาน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดความยืดหยุ่นและความยั่งยืนได้

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นวิธีการที่จะทำให้ปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ (New Normal) ได้เร็วขึ้น และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ควบคุมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และรัฐบาลต้องรู้จักที่จะเปิดกว้างด้วย

นอกจากนี้ ซอปเนนดูยังกล่าวถึงความสำคัญในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย โดยได้ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ เมื่อรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์เมืองใหญ่จนทำให้ประชาชนแห่หนีออกไปต่างจังหวัด โดยซอปเนนดูมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดี จนทำให้ไม่มีเงินเก็บและไม่มีประกัน และต้องหนีไปหากินในพื้นที่อื่น ๆ การยกระดับบริการทางการเงินให้ทั่วถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

สุดท้ายนี้ ตัวแทนจากธนาคารกลางสิงคโปร์ได้นำเสนอหลัก 3C ให้ผู้ประกอบการนำไปพิจารณา ได้แก่ Cash Flow, Customer Flow และ Capital Flow โดยภาคธุรกิจควรทำให้กระแสเงินสดเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ปรับรูปแบบการให้บริการลูกค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และทำให้กระแสเงินทุนมีความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ซึ่งเมื่อภาคธุรกิจประสบความสำเร็จตามหลัก 3C แล้ว ธุรกิจก็จะอยู่รอดในยุคหลังโควิด-19

Back to top button