มากกว่าสายลมที่ผ่านเลย

การกลับมาระบาดระลอกสองของโควิด-19 (ที่จริงน่าจะบอกว่าระลอกแรกตอนปลายน่าจะถูกต้องมากกว่า ทำให้ความเข้าใจที่ว่าการระบาดของเชื้อโรคจากจุลชีวะนี้ผ่อนคลายลงไปถึงระดับควบคุมได้ในบางประเทศกลายเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนใหม่


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

การกลับมาระบาดระลอกสองของโควิด-19 (ที่จริงน่าจะบอกว่าระลอกแรกตอนปลายน่าจะถูกต้องมากกว่า ทำให้ความเข้าใจที่ว่าการระบาดของเชื้อโรคจากจุลชีวะนี้ผ่อนคลายลงไปถึงระดับควบคุมได้ในบางประเทศกลายเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนใหม่

ระหว่างการทบทวนเช่นนี้ ตลาดหุ้นและราคาหุ้นที่ทำท่าจะเทิร์นอะราวด์หลังตกหนักในเดือนมีนาคม ก็เริ่มแสดงอาการแกว่งไกวไปกับความมั่นใจที่คลอนแคลนลงไป เป็นเรื่องปกติเพราะอย่างที่ทราบกันดี การคาดเดาอนาคตที่คลุมเครือไม่แน่นอน มักจะมีแนวต้านของตลาดที่แข็งแกร่ง

ยามนี้ การคาดหวังว่าดัชนี SET จะทะยานยืนเหนือ 1,400 จุด คงไม่ใช่เรื่องง่าย ยกเว้นจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

จำนวนผู้ที่ติดเชื้อเกิน 8.5 ล้านคน ในขณะที่ยอดคนตายต่ำกว่า 4.6 แสนคน ซึ่งถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขการแพร่ระบาดในอดีต รวมทั้งการควบคุมสถานการณ์เริ่มทำให้ทรงตัวหรือลดลง (ซึ่งทำให้คำพูดของนางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุก่อนประกาศอัดฉีดเงินรักษาเสถียรภาพของการเงินโลก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ว่า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงถดถอยเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551-2552 ที่เคยมีคนปรามาสว่าเกินจริง) ยังคงต้องการการประเมินต่อไป ไม่สามารถสรุปได้ง่ายดายว่า จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “ก้าวกระโดด” อย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์

ความเป็นไปได้ที่จะมีฐานะเป็นแค่ สายลมที่ผ่านเลย” (แม้จะถือเป็นการตายหมู่ที่ร้ายแรงครั้งหนึ่ง) ที่เคยถูกคาดหมายอย่างมากเมื่อมีการยกเลิกหรือลดมาตรการชัตดาวน์ จึงยังอาจจะกลับมาเข้มงวดระลอกใหม่ หากมีการกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม และยาวนานกว่า เพราะเจ้าไวรัสสามารถกลายพันธุ์และดื้อยา ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ที่ผ่านมา มีข้อมูลเชิงบวกอยู่ประปรายว่า มนุษย์สามารถเร่งพัฒนายกระดับให้จุลชีววิทยาก้าวหน้ามากพอ ที่จะไม่ตกเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว สามารถเปิดการรุกล่วงหน้า (proactive strikes) หรือหากต้องตั้งรับก็มียุทธศาสตร์และเครื่องมือหรือกลไกที่เหมาะสม ไม่ลนลานหรือเหวี่ยงแหอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายสภาพเป็นโรคปกติที่มนุษย์คุ้นเคยและควบคุมได้ ไม่มีการระบาดร้ายแรงอีก แต่การกลับมาครั้งใหม่ก็ตอกย้ำว่านั่นเป็นแค่ข้อสรุปเบื้องต้นเท่านั้น

ทุภาษิตเก่าแก่ที่ว่า สงครามยังไม่จบ อย่าด่วนนับศพคนตาย ยังคงใช้ได้เสมอ

ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในวันที่ 21 มิ.ย. 63 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในวันเดียวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 183,020 ทำสถิติยอดติดเชื้อรายวันสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 8,708,008 ราย และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4,743 ราย ซึ่งทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 461,715 ราย

ตัวเลข ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซึ่งใกล้ทะลุ 9 ล้านราย และการที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 1 ล้านราย ในช่วงเวลาเพียง 7 วัน (15-22 มิ.ย.) เท่านั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่น่ายินดีมากนัก

บราซิลพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือ 54,771 ราย รองลงมาคือสหรัฐฯ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  36,617 ราย และอินเดียเพิ่มขึ้น 15,400 ราย สะท้อนว่าไวรัสโควิด-19   ยังคงไม่ลดระดับแพร่ระบาดยังคงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต และมีความเสี่ยงที่จะกลับคืนมาแพร่ระบาดอีก

ข้อมูลใหม่ ทำให้นอกจากเห็นถึงการเคลื่อนย้ายตัวของการแพร่ระบาดแล้ว ยังทำให้ตัวเลขว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยอยู่ที่ 2,278,373 ราย รองลงมาคือบราซิล 2,278,373 ราย, รัสเซีย 583,879 ราย, อินเดีย 410,461 ราย และสหราชอาณาจักร 305,803 ราย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมียอดผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยอยู่ที่ 127,359 ราย รองลงมาคือบราซิล 50,591 ราย, สหราชอาณาจักร 42,717 ราย, อิตาลี 34,634 ราย และฝรั่งเศส 29,643 ราย จากยอดรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 469,537 คน จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายดีแล้วอยู่ที่ 4.79 ล้านราย

ส่วนบราซิลที่การแพร่ระบาดกระจายตัวรุนแรงสวนทางชาติในเอเชีย (ยกเว้นอินเดีย) ผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องมาจากบราซิลยังขาดแคลนอุปกรณ์การตรวจ และเชื่อว่านี่ยังไม่ถึงช่วงการระบาดสูงสุด.

การแพร่ระบาดนี้ แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าเป็นการย้อนกลับระลอกสองหรือไม่ แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดยังมีโอกาสอยู่เสมอ เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า นอกเหนือจากมาตรการ Social distancing และ ล็อกดาวน์ แล้ว ยังไม่เคยมีการเคลื่อนไหวในระดับใหญ่โตของรัฐต่าง ๆ ในการปฏิรูปวิธีการจัดการเมืองขนาดมหานครแบบเมกะซิตี้ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและแพร่กระจายอย่างดีเยี่ยมของเชื้อจุลชีวะทุกประเภท ซึ่งมักถูกประเมินต่ำเสมอมาจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในเกือบทุกด้าน และถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องไม่เพิกเฉย

ใน 20 ปีที่ผ่านมา กระแสการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากชนบทและเมืองเล็กด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่เมืองใหญ่ (Rural and small-city flights) ทั่วโลก ดำเนินไปอย่างมากและต่อเนื่องโดยเฉพาะในเมืองของประเทศกำลังพัฒนา (หรือตลาดเกิดใหม่) บางครั้งเกินกว่าโครงสร้างพื้นฐานของเมืองจะแบกรับ

สถิติล่าสุด ระบุว่าเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ที่เรียกว่า มหานครนานาชาติหรือ (Cosmopolis) มีมากถึง 33 เมือง โดยเมืองใหญ่รุ่นเก่าอย่างนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว มีการเติบโตของประชากรต่ำกว่า 6.0% แต่เมืองอย่างเซี่ยงไฮ้ (โต 79.6%) ปักกิ่ง (90.%) นิวเดลี (81.7%) ไคโร (47.3%) ดักกา (74.6%) การาจี (54.8 %)  กว่างโจว (68.8%) ฉงชิ่ง (88.7%) เทียนจิน (89.1% ) ลากอส (84.7%) คินชาซ่า (114.%) อิสตันบูล (56.7%) โบโกต้า (67.1%) และกรุงเทพ (58.8%) มีการเติบโตก้าวกระโดดอย่างเข้มข้นจนผิดปกติ

การเติบโตของเมืองระดับมหานครนานาชาติเหล่านี้ ล้วนนำมาซึ่งปัญหา (ความเหลื่อมล้ำอาชญากรรม/ความรุนแรงหลากรูป ระบบขจัดของเสีย บริการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตฯลฯ) ที่ถูกอำพรางเอาไว้ แล้วบ่มเพาะ หมักหมมสะสมรอวันปะทุทำให้เมืองมหานครนานาชาติเหล่านี้กลายสภาพเป็นเมืองที่ฆ่าตัวตายผ่อนส่งอย่างช้า ๆ ทำนองเดียวกับกรุงโรมในอาณาจักรโรมันเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน จากผลพวงของความเจริญที่เร่งรัด

ดัชนีที่แกว่งไกวไซด์เวย์ในหลายตลาดหุ้นของโลกยามนี้ เป็นแค่สัญญาณหน้าฉากเท่านั้นเอง

Back to top button