พาราสาวะถี

ผ่าน 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ต้องถามว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยเดินไปถึงไหน จากชาติที่เคยได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยย่านอาเซียน วันนี้ ล้าหลังยิ่งกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เป็นคำตอบได้อย่างดี ไม่ใช่ประเทศไม่พัฒนา คนไร้การศึกษาจึงตามโลกไม่ทัน หากแต่เป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจ อุปโลกน์สารพัดระบอบขึ้นมาโจมตีฝ่ายที่ต้องการล้มล้าง ทำให้กลไกของกระบวนการประชาธิปไตยมันจึงติด ๆ ดับ ๆ


อรชุน

ผ่าน 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ต้องถามว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยเดินไปถึงไหน จากชาติที่เคยได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยย่านอาเซียน วันนี้ ล้าหลังยิ่งกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เป็นคำตอบได้อย่างดี ไม่ใช่ประเทศไม่พัฒนา คนไร้การศึกษาจึงตามโลกไม่ทัน หากแต่เป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจ อุปโลกน์สารพัดระบอบขึ้นมาโจมตีฝ่ายที่ต้องการล้มล้าง ทำให้กลไกของกระบวนการประชาธิปไตยมันจึงติด ๆ ดับ ๆ

ความจริงอาจเรียกได้ว่าดับเสียมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องมองไปถึงการพัฒนาด้านอื่น ยิ่งมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง ยังมองไม่ออกว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจจะนำพาประเทศและประชาชนเดินไปในทิศทางใด รวมไทยสร้างชาติ วาทกรรมใหม่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสร้างขึ้นมา ถ้ายังอยู่ภายใต้แนวคิดแบบอำนาจนิยม ปฏิบัติการณ์ข่าวสาร ทำลายล้างคนเห็นต่าง ยกหางพวกที่สนับสนุนเป็นคนดี มันก็อยู่ได้เท่านี้คือมีเจ๊ากับเจ๊งเท่านั้น

ปากก็บอกว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร มิหนำซ้ำ ยังยกเรื่องข้อกฎหมายมาเป็นเกราะกำบัง ทั้งที่ ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีอันเป็นกฎหมายที่คณะเผด็จการคสช.เป็นผู้เขียนขึ้นมา แม้ปัจจุบันจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่กฎหมายอีกจำนวนไม่น้อยก็คือผลิตผลของขบวนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อถือเชื่อมั่นของผู้คน บางครั้งมันกระทบไปถึงตัวองค์กรผู้บังคับใช้เสียด้วยซ้ำ ช่างเป็นการกล่าวอ้างที่ดูสวยหรูแต่ขาดน้ำหนักในการยอมรับจากประชาชน

ในขณะที่งานด้านการบริหารก็อ้างสารพัดปัจจัย ก่อนหน้าก็บอกว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการขาดการยอมรับจากนานาประเทศ วันนี้เป็นรัฐบาลที่กล้าพูดว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เรื่องการยอมรับก็ไร้ปัญหา แต่กลับยังไม่เห็นผลของความคืบหน้าในการทำงานแม้แต่น้อย พอมีโควิด-19 ก็จะหาเหตุมาอ้างอีกว่าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้กุมอำนาจไม่อาจขยับทำอะไรได้ ถ้าทำได้แค่นี้อย่ามีเสียดีกว่ารัฐบาล เพราะคนส่วนใหญ่อยากเห็นการแก้ไขไม่ใช่การแก้ตัว

ยอมรับเสียแต่โดยดีที่ผ่านมา ดรีมทีมเศรษฐกิจมีแต่สร้างฝันร้ายให้กับประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำงานพลาดกลายเป็นความล้มเหลวที่ตามหลอกหลอนรัฐบาล ผลจากการแจกเงิน 5 พันบาทแล้วโดนด่าเป็นบทพิสูจน์ หลังจากนี้ไร้เงินเยียวยา เข้าสู่มาตรการฟื้นฟู พ.ร.ก.เงินกู้ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภา ที่ความจริงก็สามารถใช้ได้อยู่แล้ว ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแผนการใด ๆ ยิ่งนานวันมันไม่ใช่ความรอบคอบ แต่หมายถึงความไม่เอาไหนของการบริหารงาน

จะเปลี่ยนทีมก็ไม่จำเป็นต้องเงื้อง่าราคาแพง เงื่อนเวลาที่รอการปรับเปลี่ยนภายในพรรคสืบทอดอำนาจคนเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ควรรีบป่าวประกาศเสียทีว่า จะปรับครม.แน่นอน เฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลหรือรวมพรรคร่วมอื่น ๆ ด้วยก็เอาให้ชัด คนจะได้รู้ว่าแนวคิดและทิศทางที่จะก้าวเดินนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งบอกได้ไปถึงว่า ทีมเศรษฐกิจจะใช้คนในพรรคร่วมที่มีอยู่หรือดึงคนนอกเข้ามาก็บอกไปเสียเลย เพื่อที่คนจะได้คิดต่อไปว่าควรจะก้าวเดินกันต่อไปอย่างมีความหวังหรือรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเร็ววัน

หรือเป็นเพราะว่าคณิตศาสตร์ทางการเมืองว่าด้วยรัฐบาลพรรคร่วมหลายพรรค มันทำให้ต้องคิดหนักกันหน่อย ยิ่งบางพรรคมีการไปดึงตัวอดีตส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่เข้ามาเติม มันส่งผลต่อการคำนวณเก้าอี้เสนาบดีกันใช่หรือไม่ ถ้าไม่ยึดโยงตัวเลขแบบนี้ โดยท่านผู้นำขอใช้โอกาสที่จัดทีมงานเพื่อเรียกความศรัทธาจากประชาชน และหวังกอบกู้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ต้องเร่งเจรจาและส่งสัญญาณกันนับตั้งแต่วันนี้

การยืดเยื้อออกไป อย่าว่าแต่เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน แค่รายวันคนทั้งประเทศก็แย่กันหนักขึ้นเรื่อย ๆ การเมืองที่ดีแต่พูด การบริหารงานที่ขยันแต่โชว์วาทกรรม ไม่เคยประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากประชาชน เห็นได้ชัดนับตั้งแต่หมดยุคของชวนเชื่องช้าหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ดังนั้น ทีมกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองชนิดเขี้ยวลากดิน ก็น่าจะมีคำแนะนำกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจบ้างว่า จะต้องขับเคลื่อนกันอย่างไรในสถานการณ์ที่ความนิยมอยู่ในช่วงสาละวันเตี้ยลง

เห็นการขยับของพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว สาทิตย์ วงศ์หนองเตย คงมองทะลุว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการปรับเปลี่ยนภายในรัฐบาล จึงได้ออกมาวิเคราะห์ทิศทางเป็นฉาก ๆ แต่ทั้งหมดมันไม่ได้มีความหมายต่อประชาชนโดยทั่วไป แต่มันหมายถึงชะตากรรมของคนพรรคเก่าแก่ที่เลือกเดินบนเส้นทางสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจมากกว่าว่า ถ้าเกิดผลกระทบมาถึงโควตารัฐมนตรีที่ตัวเองมีอยู่ 7 ตำแหน่งจะยอมรับได้หรือไม่

ในช่วงของการขยับแจกกล้วยหรือซื้องูเห่า เห็นกันอยู่ว่า พรรคสืบทอดอำนาจกับภูมิใจไทยมีส.ส.ย้ายเข้าคอกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่งผลถึงสัดส่วนที่จะถูกนำมาคำนวณเก้าอี้ในรัฐบาลเรือเหล็กด้วย รวมไปถึงพรรคเล็กอย่างพลังท้องถิ่นไทยของ ชัชวาลย์ คงอุดม ด้วย หากทุกอย่างว่ากันตามมารยาททางการเมือง ก็ต้องมีบางคน บางพรรคเจ็บตัว แต่ถ้าท่านผู้นำไม่อยากเสียมิตรหรือเกิดปัญหาภายในพรรคร่วม โดยส่งสัญญาณไปที่พี่ใหญ่ให้ไปเจรจากับคนในพรรคตัวเองยอมเฉือนบางเก้าอี้เพื่อแลกกับเสถียรภาพนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ในบริบทที่ยอมกระโดดมาคลุกฝุ่นการเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการเข้ามาอย่างเต็มตัวของคณะเผด็จการคสช.ที่ร่วมกันสร้างกติกาทางการเมืองเวลานี้หรือไม่ ก็พอจะเดากันได้ว่า ทุกอย่างน่าจะว่ากันไปตามกติกาที่เป็นกลาง สร้างความเป็นธรรมกับทุกพรรค ทุกฝ่าย หากเป็นไปตามนี้พรรคเก่าแก่ก็ต้องยอมกลืนเลือดหากเลือกที่จะร่วมรัฐบาลต่อไป

ถ้าเห็นว่าเป็นการบีบกันจนเกินไปและเสียศักดิ์ศรีของพรรคที่อยู่มายาวนาน การจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่อดีตคนของพรรคเคยเสนอคือ ฝ่ายค้านอิสระ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ แต่นั่นคงไม่ใช่แนวทางที่ผู้บริหารพรรคคณะนี้จะเดินอย่างแน่นอน อาจต้องใช้สายสัมพันธ์อันดีของคนที่เป็นเลขาธิการพรรคกับว่าที่หัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจในการเจรจาเพื่อให้รักษาตำแหน่งที่สำคัญไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคนคุ้นเคยก็ไม่น่าจะใจดำขนาดนั้น แต่ก็อย่างว่าภาพต่อรองก่อนตั้งรัฐบาลอาจถูกหยิบขึ้นมาเพื่อบอกว่า ทีใครทีมัน ก็เป็นได้

Back to top button