สัญญาณเตือนภัยจากธปท.

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ แทนที่โฟกัสจะอยู่ตรงเรื่องมติคงอัตราดอกเบี้ย 0.50% แต่ไฮไลต์กลับไปอยู่ตรงที่ถ้อยแถลงเรื่องการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาดไว้ว่า -5.3% เนื่องเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดก็ตาม


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ แทนที่โฟกัสจะอยู่ตรงเรื่องมติคงอัตราดอกเบี้ย 0.50% แต่ไฮไลต์กลับไปอยู่ตรงที่ถ้อยแถลงเรื่องการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาดไว้ว่า -5.3% เนื่องเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดก็ตาม

พร้อมปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาดไว้ว่า -8.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จะหดตัวอยู่ที่ -1.7% จากเดิมคาดไว้ว่า –1.0% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายช่วงปี 2564

ส่วนการท่องเที่ยว ประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่า -3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -1.5%

การลงทุนภาคเอกชน -13.0% จากคาดการณ์เดิมที่ -4.3% มีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้น ที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 5.8% เท่ากับคาดการณ์เดิม ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ จากคาดการณ์เดิมที่ 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนเงินบาทแข็งค่า มีปัจจัยจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักและภูมิภาคเอเชีย โดยกนง.มองว่าจะมีผลกระทบกับผู้ส่งออก ดังนั้นจึงให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินมาตรการที่จำเป็นเพิ่มเติมช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

โดยกนง.ประเมินว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัว 5% ส่วนการส่งออก ขยายตัว 4.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 0.9% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.5% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 5.6% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 14.1% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ และจำนวนนัก ท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 16.2 ล้านคน

จุดที่น่าสนใจและถือเป็นเซอร์ไพรส์เชิงลบ เพราะการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจลงเหลือ -8.1% ของธปท.ครั้งนี้ ย่ำแย่กว่าหลายสำนักประเมินก่อนหน้านี้ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า -7.30% ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า -6.0% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า -5.0% สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า -5% ถึง -6% ธนาคารโลก ประเมินว่า -3.0% ธนาคารพัฒนาเอเชีย ประเมินว่า -4.8% และกองทุนการเงินระหว่าประเทศ (IMF) ประเมินว่า -6.7%

ที่สำคัญอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่คาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือ -8.1% ถือว่าเป็นตัวเลข GDP ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับช่วงที่ไทย เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 พบว่าตัวเลข GDP ของไทยอยู่ที่ -7.6%

เป็นที่น่าสนใจว่า ปกติธรรมชาติของธปท.มัก “สงวนเนื้อสงวนตัว” หรือระมัดระวังในการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ แต่การออกมารับสภาพว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.1% ครั้งนี้ จะเป็นเหตุจูงใจให้อีกหลายสำนักอาจออกมาปรับประมาณการใหม่ตามไปด้วยเช่นกัน

แต่ตัวเลขจะมากกว่า -8.1% ของธปท.ประเมินไว้หรือไม่..ถือว่าน่าสนใจและน่าติดตามเลยทีเดียว…!!!!!

Back to top button