สึนามิเดือนตุลาฯ

ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการส่งออกประเทศไทยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก็คือยอดส่งออกสร้างสถิติตกต่ำใหม่ในรอบ 130 เดือน นั่นก็คือ การส่งออกติดลบถึงร้อยละ 22.5 ขณะที่การนำเข้าก็ติดลบไปร้อยละ 34.41


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการส่งออกประเทศไทยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก็คือยอดส่งออกสร้างสถิติตกต่ำใหม่ในรอบ 130 เดือน นั่นก็คือ การส่งออกติดลบถึงร้อยละ 22.5 ขณะที่การนำเข้าก็ติดลบไปร้อยละ 34.41

ข้อไม่ดีต่อมาก็คือ การส่งออกยังคงเกินดุลถึง 2,694.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี ดุลการค้ายังคงเกินดุลรวมอยู่ถึง 9,090.6 ล้านดอลลาร์

การเกินดุลการค้ามาก ๆ ไม่ดี เพราะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ก่ออุปสรรคอย่างมากต่อการส่งออกเข้าไปอีก นี่เงินบาทก็หลุดระดับ 31 บาท/1 ดอลลาร์ ลงมาอีกแล้ว หากไม่มีการบริหารจัดการ ก็อาจจะได้เห็นการหลุดระดับ 30 บาทในไม่ช้า

ข่าวไม่ดีเรื่องที่ 2 ก็คือคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. หน่วยงานใต้อิทธิพลของแบงก์ชาติ ผู้เป็นเจ้าตำรับ “รายได้ลม” ของธนาคารพาณิชย์จากนโยบายพักชำระหนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเหลือ 8.1%

จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 5.3% แสดงว่าสาหัสรุนแรงหนักกว่าเดิมอีก เล่นเอาตลาดหุ้นตีลังกากลับหัวที่ เช้าขึ้นสวรรค์ แต่เย็นตกนรก

แต่ข่าวไม่ดีเรื่องที่ 3 นี่สิ ถึงขั้น “นรกแตก” ได้เลย จากผลพวงนโยบายพักชำระหนี้ 3 เดือน-6 เดือน และช่วยกันแก้เกณฑ์ธปท.ไม่ให้มีการปรับชั้นหนี้เป็น NPL เพื่อช่วยเหลือแบงก์ไม่ให้มีความผิด และไม่ต้องบันทึกประวัติเสียของลูกหนี้เข้าเครดิตบูโร

จดจำตัวเลขนี้กันไว้ดี ๆ นะครับ มีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือแล้วทั้งสิ้น 16.3 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของยอดหนี้รวมในระบบธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

ปัญหาใหญ่ก็คือ เมื่อสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ 6 เดือนเอาในเดือนกันยายนแล้ว เปิดใหม่มาในเดือนตุลาคม จะมีลูกหนี้กลับมาเดินหนี้ตามปกติได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

ยอดหนี้ที่พักชำระกันในเวลานี้ 6.8 ล้านล้านบาท เป็นยอดเงินสูงไม่ใช่เล่น เทียบเคียงได้กับงบประมาณแผ่นดินประมาณ 2 ปีเลยทีเดียว

กรณีดีที่สุด หากมีลูกหนี้ ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้สัก 10% ก็จะเกิดหนี้เสียถึง 6.8 แสนล้านบาท กรณีเลวร้ายปานกลาง ลูกหนี้ไม่กลับมาชำระหนี้สัก 30% ก็จะเป็นหนี้เสียถึง 2 ล้านล้านบาท

ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุด ก็คือลูกหนี้ไม่กลับมาชำระหนี้ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ก็จะเกิดหนี้เสียไม่น้อยกว่า 3.4 ล้านล้านบาทขึ้นไป คิดเป็นงบประมาณแผ่นดินราว 1 ปีพอดี

นี่คือ สึนามิทางเศรษฐกิจ อันเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ชวนระทึก ที่จะเกิดขึ้นใน 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าแบงก์ชาติหรือรัฐบาล จะต้องหาทางเตรียมรับมือกับปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ

เดิมพันครั้งนี้คือ “แบงก์ล้ม” และเศรษฐกิจประเทศจะพังครืนทั้งระบบ

ปัญหาว่าจะหาทางแก้ไขแบบ “ขายผ้า เอาหน้ารอด” โดยวิธีต่อแพ็กเกจพักชำระหนี้ต่อไปอีก ก็จะเป็นการซุกขยะใต้พรมก้อนใหญ่ยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งนานวันจะเป็นวิกฤตใหญ่หลวง และก็อย่าลืมว่า การพักหนี้ 3 เดือน–6 เดือนทุกวันนี้ เหมือนหลอกกันทุกฝ่าย

แทนที่ลูกหนี้จะเป็น NPL กลับไม่เป็น NPL ส่วนทางแบงก์เอง ก็ต้องกอดหนี้ NPL ไว้ โดยถือเสมือนเป็นหนี้ดีทั้งหมดเต็มจำนวน ถึงเวลาก็ต้องบันทึกเป็น “รายได้ปลอม” และหากมีกำไรก็ต้องจ่ายภาษีจากรายได้ปลอม ๆ นั้น

สึนามิ” อีก 4 เดือนข้างหน้านั้น น่ากลัวชวนขนหัวลุกเป็นที่สุด เรื่องอื่น ๆ อาทิ ควรเลิกไม่เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเรื่องปรับครม. ใครจะเข้าจะออก ใครมาเป็นหัวหน้าพรรคพปชร. หรือต่อให้เรื่องการบินไทยด้วย ล้วนเป็นเรื่องเล็กกระจิริดทั้งนั้น

จะพิสูจน์นายกฯ ตู่ “นิวนอร์มัล” ก็เรื่องนี้แหละ

Back to top button