“นายกฯ” เข้าสภาฯ แจงกรอบใช้งบฯ ปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านลบ. ฟื้นฟูศก.-สังคม-ความมั่นคง!

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เข้าสภาฯ ชี้แจงกรอบใช้งบฯ ปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านลบ. กำหนดยุทธศาสตร์ ฟื้นฟูศก.-สังคม-ความมั่นคง!


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่มีวงเงินรายจ่าย 3.3 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิ 2.67 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ที่หดตัว -5 ถึง -6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหดตัวตามราคาพลังงาน

“ปีนี้คาดการณ์ว่า GDP จะหดตัว 5-6% จากปัญหาสงครามการค้า, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, มาตรการจำกัดการเดินทางของหลายประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างรุนแรง แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การหดตัวของเศรษฐกิจก็จะช้าลง จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มดีขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการค้าและการท่องเที่ยว การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะกลับมาฟื้นตัวได้ 4-5% จากผลของฐานที่ต่ำในปี 63 นอกจากนี้แนวโน้มอุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศด้วยเช่นกัน แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคไวรัสโควิด-19  มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มีมาตรการกีดกันทางการค้า มีความรุนแรงขึ้น

กรณีที่การระบาดโควิด-19 สามารถยุติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ดังนั้น จากการประมาณสถานการณ์ รัฐบาลจะบริหารการเงินการคลังให้เป็นไปอย่างเหมาะสม  และยืนยันว่า สถานการณ์การเงินของไทย อยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่ง

โดยการจัดทำงบประมาณมีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนมีเศรษฐกิจดี ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างรายได้ของประชาชน  โดยแต่ละกระทรวงกำหนดแผนการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนา และเกิดประโยชน์สูงสุด มีความเป็นธรรมทางสังคม มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าการใช้งบประมาณ และมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อน และดำเนินภารกิจที่สอดคล้อง บรรเทา เยียวยาประชาชน ในช่วงโควิด-19

สำหรับงบประมาณ ปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 267,700 ล้านบาทและเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณจำนวน 623,000 ล้านบาท

วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 2,526,131.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 674,868.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.5% ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน  99,000  ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.0% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

โดยงบประมาณรายจ่ายจำแนกได้ดังนี้

1.งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวน 614,616.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.6% ของวงเงินงบประมาณ

2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,135,182 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.4% ของวงเงินงบประมาณ

3.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 257,877.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 14 เรื่อง ได้แก่ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ, เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย, บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด, พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์, พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล, พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, พัฒนาพื้นที่ระดับภาค, พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก, พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, รัฐบาลดิจิทัล, สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

4.งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 776,887.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.6% ของวงเงินงบประมาณ

5.งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 221,981.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7% ของวงเงินงบประมาณ

6.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 293,454.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.9% ของวงเงินงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้วางยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า สถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวนประมาณกว่า 7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.7% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 60% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 6,517,617.1 ล้านบาท ส่วนฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีจำนวน กว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.8% เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

Back to top button