ผู้เชี่ยวชาญชี้ “โควิด” พ่นพิษหนักในสหรัฐฯ ลางร้าย!สะเทือนแผนเลือกตั้ง-คะแนนนิยม “ทรัมป์”

สื่อสหรัฐฯ เปิดเผยมุมมองผู้เชี่ยวชาญ ชี้ “โควิด” พ่นพิษหนักในสหรัฐฯ “ลางร้าย” สะเทือนแผนเลือกตั้ง-คะแนนนิยม “ทรัมป์”!


สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า หลังจากที่ตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในหลายรัฐทางตอนใต้พุ่งสูงขึ้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นลางร้ายสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังแสวงหาหนทางคว้าชัยในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย.63 รัฐฟลอริดาตรวจพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 9,585 ราย ขณะที่เซาธ์แคโรไลนา เท็กซัส เนวาดา และจอร์เจีย ตรวจพบผู้ป่วยใหม่ในจำนวนที่ได้สร้างหรือใกล้จะสร้างประวัติใหม่ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดียอดผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นอาจเป็นภาพสะท้อนของตัวเลขการทดสอบที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้

เหล่าผู้เชี่ยวชาญมองว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการได้รับเลือกตั้งใหม่ของทรัมป์

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อแถวเข้าฟังการหาเสียงของทรัมป์ในเมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมาของสหรัฐฯ วันที่ 20 มิ.ย. 2020)

คริสโตเฟอร์ กาลด์เยรี (Christopher Galdieri) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเซนต์แอนเซล เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า “การตรวจพบผู้ป่วยเพิ่ม ส่งผลให้ประเด็นโควิด-19 ยังเป็นที่พูดถึงของผู้คน และอาจทำให้พวกเขาตั้งคำถามต่อการรับมือของรัฐบาลกลาง หากมีการปิดเมืองใหม่อีกครั้ง ผมคิดว่าประชาชนคงโกรธ และสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงต้องเผชิญการล็อกดาวน์รอบแรก ถ้าพวกเขาจะต้องเจอกับการล็อกดาวน์อีกครั้ง แน่นอนว่าหากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งโกรธแค้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี”

กาลด์เยรีกล่าวว่า “ประการที่สอง รัฐทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้หลายแห่งที่กำลังมีตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงนั้นล้วนเป็นรัฐที่ตรวจพบผู้ป่วยไม่มากนักเมื่อโรคเริ่มระบาดในเดือนมีนาคม ดังนั้นผู้คนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองรอดพ้นจากสิ่งเลวร้ายที่สุด กลับต้องรู้สึกเหมือนถูกลงโทษอย่างรุนแรง และผมคิดว่าผลกระทบทางจิตวิทยาจากความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี”

ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสในสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ทำให้เขาตกที่นั่งลำบากได้สบายๆ และประชาชนอาจจะตำหนิว่าเขาเป็นต้นเหตุที่ทำให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

“ยิ่งผู้คนล้มตายกันมากเท่าใด โอกาสที่ทรัมป์จะโน้มน้าวให้ผู้คนลงคะแนนเสียงเลือกเขาในวาระที่ 2 ก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น” ดาร์เรล เวสต์ (Darrell West) นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวกับซินหัว

(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนประท้วงภายนอกอาคารศาลาว่าการรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ วันที่ 30 มิ.ย. 2020 )

ผลสำรวจคะแนนนิยมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักออกมาย่ำแย่เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา “เศรษฐกิจตอนนี้ยังคงอ่อนแอ ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมโจ ไบเดน (ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) ถึงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในตอนนี้” เวสต์ กล่าวถึงผลการสำรวจ ซึ่งไบเดนทำคะแนนแซงหน้าทิ้งห่างจากทรัมป์

ขณะที่อัตราการว่างงานจำนวนมหาศาลของประเทศ ซึ่งจัดว่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เป็นผลพวงมาจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลซึ่งไม่เคยทำมาก่อน และเกิดขึ้นแม้แต่ในรัฐที่ตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 น้อย

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากขาดความมั่นใจในตัวทรัมป์แล้ว และยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงมุมมองนั้นในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” เวสต์ กล่าว
ฟอร์ด โอคอนเนล (Ford O’Connell) นักยุทธศาสตร์ฝ่ายรีพับลิกันและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ กล่าวกับซินหัวว่า จำนวนผู้ป่วยที่พุ่งสูงนั้นเกิดขึ้นและจะหายไป แต่ยากจะคาดการณ์ว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

“ปัญหาสามด้าน ทั้งโรคโควิด-19 เศรษฐกิจที่อ่อนแอจากการระบาดใหญ่ และความไม่สงบทางสังคมเมื่อไม่นานมานี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะของทรัมป์ในแบบสำรวจความเห็น แต่แน่นอนว่าสถานการณ์ของทรัมป์ในอีกประมาณ 4 เดือนนับจากนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็เป็นได้” โอคอนเนล กล่าว

ด้าน เคลย์ แรมเซย์ (Clay Ramsay) นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เปิดเผยกับซินหัวว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดของทรัมป์ในประเด็นโรคโควิด-19 คือเขาชอบเบี่ยงเบนประเด็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสวนทางกับปัญหาไวรัส”

Back to top button