“พาณิชย์” จ่อพาทูตลงพื้นที่ เคลียร์ปม “ลิงเก็บมะพร้าว” ทารุณสัตว์ หลังอังกฤษแบนกะทิไทย

"พาณิชย์" จ่อพาทูตลงพื้นที่ เคลียร์ปม "ลิงเก็บมะพร้าว" ทารุณสัตว์ หลังห้างดังหลายแห่งในอังกฤษแบนกะทิไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) ออกมาต่อต้านผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป และมะพร้าวจากประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าการนำลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิจากไทยในห้างหลายแห่งในประเทศอังกฤษนั้น

ล่าสุด นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โดยเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ทราบเรื่องแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้จะเกี่ยวข้องกับการตลาด จะเร่งติดตามดูแล อยากให้หน่วยงานที่วิเคราะห์วิจัยดูถึงข้อเท็จจริง การที่เกษตรกร หรือผู้เลี้ยงลิงเก็บมะพร้าว ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เพราะสัตว์ที่ชาวบ้านนำมาเก็บมะพร้าว ถือว่าอยู่ในวิถีชีวิต และเป็นการเลี้ยงแบบฝึกเก็บมะพร้าวโดยเฉพาะ ไม่ใช่การทรมาน หรือทารุณสัตว์ตามกลุ่มพีต้า ออกมาระบุ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความพร้อมที่จะเชิญทูตหลายประเทศ ให้เข้ามาดูวิธีการเก็บมะพร้าว เพื่อให้รู้วิถีชีวิตของคนไทยและสัตว์เลี้ยง ว่าไม่ใช่เป็นการทรมาน ลิงถือว่าได้รับการฝึกฝน ดังนั้น หากนำคณะทูตมาดูวิถีชีวิตในพื้นที่ เชื่อว่าจะทำให้หลายประเทศเข้าใจว่า ไม่ใช่การทรมานสัตว์

นอกจากนี้ คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญจากข่าวดังกล่าว ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ไทย ได้มีการออกแถลงการณ์ และนำวิถีชีวิตการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเผยแพร่ออกไปแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ จะให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ไปทำความเข้าใจห้างต่างๆ ถึงวิธีการของไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณี องค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีตา กล่าวหาว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ว่า ประเด็นปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ก็คือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้นว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว เรื่องนี้ซึ่งได้เคยปรากฏเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งได้เคยปรากฏเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ

ทั้งนี้ ได้เคยหารือกับผู้ประกอบการแปรรูปกะทิและผลผลิตอาหารสำเร็จรูปมาก่อนหน้านี้ และได้รับการชี้แจงในประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นส่วนใหญ่ใช้ในด้านวัฒนธรรมวิถีชีวิตและการท่องเที่ยวมากกว่า แต่สำหรับในเรื่องของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีปรากฏแล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิและผู้แปรรูปผลผลิตจากมะพร้าวมาหารือกันหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้หาแนวทางร่วมกันในการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้าที่ยังสงสัยอยู่ รวมถึงในองค์การพิทักษ์สัตว์ที่ต้องการข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าจะประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจอย่างไรและขนาดเดียวกันก็จะมีแผนที่จะเชิญทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทยในประเทศที่ยังมีข้อสงสัยลงพื้นที่ไปดูด้วย

Back to top button