พาราสาวะถี

ไม่มีอะไรซับซ้อนกับการตั้งโต๊ะแถลงของ 4 กุมารภายใต้การนำของ อุตตม สาวนายน เรื่องการลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ ความอธิบายต่าง ๆ เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ทำให้ทุกอย่างดูดี ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนที่รู้สึกดีต่อกัน และไม่ให้มีผลต่ออนาคตหากยังจะต้องร่วมงานกันต่อไป และการเดินเกมเช่นนี้ ภายใต้คำยืนยันที่ว่ายังไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็หมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะขอใช้สิทธิในโควตาตัวเองจิ้มให้ใครเป็นรัฐมนตรีต่อไป


อรชุน

ไม่มีอะไรซับซ้อนกับการตั้งโต๊ะแถลงของ 4 กุมารภายใต้การนำของ อุตตม สาวนายน เรื่องการลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ ความอธิบายต่าง ๆ เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ทำให้ทุกอย่างดูดี ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนที่รู้สึกดีต่อกัน และไม่ให้มีผลต่ออนาคตหากยังจะต้องร่วมงานกันต่อไป และการเดินเกมเช่นนี้ ภายใต้คำยืนยันที่ว่ายังไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็หมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะขอใช้สิทธิในโควตาตัวเองจิ้มให้ใครเป็นรัฐมนตรีต่อไป

ต้องอย่าลืมว่าภายใต้สัดส่วนจำนวนเสนาบดีของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีเงื่อนไขที่เป็นโควตากลางของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ อย่างน้อยก็ 4 ตำแหน่งคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สองรองนายกฯ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้ หากจะมีโควตาเพิ่มอีกซัก 2-3 ตำแหน่งก็คงไม่มีใครกล้าคัดค้าน ภายใต้บริบทที่ว่า ยังหาทีมมาดูแลเศรษฐกิจไม่ได้

น่าสนใจตรงที่ การเดินทางไปพบผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดทีเล่นทีจริงเมื่อถูกถามถึงโควตากลางที่บอกว่า มีถึง 9 คนมั้ง นั่นย่อมถูกมองได้ว่าการลาออกของ 4 กุมารเที่ยวนี้ ก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาภายในพรรคสืบทอดอำนาจ และไม่สร้างความหนักใจต่อท่านผู้นำในการปรับครม. เพราะสามารถอ้างได้ว่า การเลือกที่จะให้ใครอยู่ต่อในส่วนของทีมงานเฮียกวงนั้น ถือเป็นอำนาจและสัดส่วนของท่านผู้นำเอง

ขณะเดียวกัน จากวงพบผู้บริหารสื่อดังกล่าวก็ชัดเจนในเรื่องเงื่อนเวลาของการปรับครม. เมื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยืนยันว่าจะต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านกระบวนการของสภาทั้งหมดเสียก่อน ซึ่งก็จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนกันยายน ซึ่งถือว่านานกว่าที่กลุ่มก๊วนภายในพรรคสืบทอดอำนาจต้องการ นั่นเท่ากับ เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้เกิดการต่อรอง ตกลงกันในผลประโยชน์ รวมไปถึงรอดูผลของการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิดด้วย

เป็นการเดินเกมที่มีเดิมพัน เพียงแต่ว่าเดิมพันที่ว่าด้วยเงินกู้ฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิดนั้น อาจจะหวังผลอะไรได้ไม่มาก แต่ในส่วนของงบประมาณปี 64 ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ หากสามารถจัดสรรปันส่วนกันได้ลงตัว แรงกระเพื่อมที่ว่าด้วยการร้องขอตำแหน่งในฝ่ายบริหารก็จะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย โดยธรรมชาติของบรรดาเสือหิวเสือโหยทั้งหลายนั้น เก้าอี้รัฐมนตรีถือว่าเป็นของแถมเป็นเกียรติเป็นศรีให้แก่วงศ์ตระกูล แต่ถ้าได้ปัจจัยอื่นที่ดีกว่าเรื่องตำแหน่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

จะเห็นได้ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นอ่านเกมของนักการเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจออก ทุกการขับเคลื่อนนั้นมีเป้าหมายอย่างไร เห็นได้จากการตอบคำถามของผู้บริหารเดลินิวส์ที่ว่า คิดอย่างไรต่อเสียงที่ไม่ตอบรับกรณีบางรายชื่อที่ถูกโยนหินถามทางมาว่าเหมาะสมเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ท่านผู้นำบอกว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ เสียงยี้ที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการไม่ยอมรับในความสามารถของคน ๆ นั้น หรือคนที่ออกมาวิจารณ์อย่างนั้นเป็นคนที่อยากได้ตำแหน่งแต่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อจึงไปถล่มคนอื่น

เมื่อรู้ทันเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นภายในพรรคได้สืบทอดอำนาจได้ระดับหนึ่ง และก็จะส่งผลทำให้พี่ใหญ่สามารถไปเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรคได้ง่ายขึ้น ซึ่งโจทย์ที่ว่าด้วยการปรับครม.อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ในบริบทที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย หากตัวเลือกไม่ใช่เทคโนแครตอย่าง 4 กุมารแล้ว จะไปหากลุ่มไหนหรือใครมาแทน ขณะเดียวกัน ถ้าให้เลือกระหว่างนักการเมืองอาชีพกับเทคโนแครตก็เดาได้ไม่ยากว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเลือกอย่างหลัง

อย่างไรก็ตาม จะว่าความเคลื่อนไหวภายในพรรคสืบทอดอำนาจหมดไปเสียทีเดียวคงไม่ได้ หากมองย้อนกลับไปยังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินงานการปฏิรูปประเทศรอบ 3 เดือนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยที่สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ ด้านหนึ่งอาจจะมองว่านั่นเป็นการเล่นเกมของพรรคฝ่ายค้าน แต่ความจริง นี่อาจจะเป็นเจตนาของฝ่ายการเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจเองที่ต้องการส่งสัญญาณไปยังท่านผู้นำ

เป็นการแสดงให้เห็นว่า นี่แค่ประเด็นการพิจารณาเรื่องที่ไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ สภายังล่มได้ หากยังไม่มีการกำหนดเงื่อนเวลาการปรับครม.ที่ชัดเจน หรือกล้าประกาศว่าจะปรับครม.หลังผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ไปก่อน ก็อาจจะมีการใช้มาตรการทางรัฐสภามาข่มขู่ ปลายทางคือการแพ้โหวต และถ้าเป็นการแพ้โหวตในส่วนของร่างกฎหมายงบประมาณ  โดยประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมานายกฯ จะต้องลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น

แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ การยุบสภาไม่น่าจะใช่ทางออกที่นักการเมืองต้องการ ฝ่ายค้านเองก็ไม่มีความพร้อม ยิ่งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคสืบทอดอำนาจไม่มีใครการันตีได้ว่า เลือกตั้งใหม่แล้วจะชนะหรือไม่ ยิ่งกระแสของซูเปอร์โพลล่าสุดที่บอกว่า ถ้าเลือกตั้งวันนี้คนส่วนใหญ่จะเลือกตัวแทนของพรรคก้าวไกล ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การเดินไปสู่ถนนสายเลือกตั้งใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

สรุปความได้ว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะปรับครม.หรือไม่ ปรับแน่แต่ขอเวลา และการเดินสายพบผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ของท่านผู้นำในห้วงเวลานี้ ก็จะเป็นการไปสอบถามด้วยว่าสมควรจะปรับครม.หรือไม่ และควรจะต้องปรับใคร แม้อำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดจะเป็นของพลเอกประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว แต่การได้รับฟังกูรู ผู้รู้ที่ใกล้ชิดกับแวดวงการเมือง ก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งท่านผู้นำจะนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ

ส่วน 4 กุมารหากทำได้อย่างที่สุวิทย์ยกเอาปรัชญาเต้าเต๋อจิง มาสะท้อนอารมณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานี้ ก็น่าจะไม่มีอะไรต้องหนักใจ การปล่อยวางผู้คนส่วนใหญ่มักจะดิ้นรนไขว่คว้าหาภาระ ลาภ ยศ สรรเสริญสุขมาแบก มีมากเท่าไหร่ยิ่งคิดว่าดี แท้จริงคือความว่างเปล่า เพราะความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ได้คงตัวอยู่ตลอดไป อยู่ที่ว่าทำกันได้หรือไม่ เพราะโดยธรรมชาติของนักการเมืองมักจะเป็นในทางตรงข้าม

Back to top button