ปิดตำนานหุ้นเหล็ก SSI

เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก เมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2537 และซื้อขายวันสุดท้าย 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI พ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดตำนานหุ้น SSI ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมาเกือบ 26 ปี โดยกว่า 2 ทศวรรษหุ้น SSI เคยสร้างคุณูปการกำไรและบาดแผลขาดทุนให้นักลงทุนนับไม่ถ้วน


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก เมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2537 และซื้อขายวันสุดท้าย 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI พ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดตำนานหุ้น SSI ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมาเกือบ 26 ปี โดยกว่า 2 ทศวรรษหุ้น SSI เคยสร้างคุณูปการกำไรและบาดแผลขาดทุนให้นักลงทุนนับไม่ถ้วน

ที่ผ่านมา SSI ดำเนินธุรกิจช่วงต่อระหว่าง “เหล็กต้นน้ำ” กับ “เหล็กกลางน้ำ” ของอุตสาหกรรมเหล็ก เริ่มจากรับเหล็กแท่ง (Slab) จากโรงถลุงเหล็ก (ต้นน้ำ) มาผ่านกระบวนการ “รีด” กลายเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนหรือรีดเย็น เพื่อจำหน่ายต่อให้กลุ่มปลายน้ำนำไปต่อยอดเป็นเหล็กชนิดหรือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป

ด้วยความเป็นสร้อยข้อกลาง ระหว่างเหล็กต้นน้ำกับกลางน้ำ ทำให้ SSI จึงมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนเหล็กแท่ง (Slab) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเป็นเหตุให้ SSI ต้องแสวงหาโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง เพื่อกำจัดจุดอ่อนดังกล่าว

นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าซื้อกิจการโรงถลุงเหล็ก Teesside Cast Product (TCP) ในประเทศอังกฤษ จากบริษัท Tata Steel UK (บริษัทในกลุ่ม Tata Steel ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก) ช่วงปี 2554 ภายใต้วัตถุประสงค์ในการจัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบและเสถียรภาพของต้นทุนการผลิต แต่การได้ “โรงถลุงเหล็ก” ก็มาพร้อมภาระหนี้สิน 50,000-60,000 ล้านบาท จากการกู้ยืมเงินจาก 3 สถาบันการเงินไทย

ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นการเข้าซื้อ “โรงถลุงเหล็ก” กลายเป็นทุกขลาภขึ้นมาทันที ภายหลัง SSI เข้าซื้อโรงถลุงเหล็ก และเริ่มผลิตเหล็กแท่งแบน ช่วงปี 2555 เกิดภาวะเศรษฐกิจต่ำตก ทำให้เกิดภาวะ “เหล็กล้นตลาด” ส่งผลให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงไม่สามารถตอบโจทย์การ Synergy ระหว่าง SSI โรงถลุงเหล็กดังกล่าวได้ แต่กลายภาระผูกพันทำให้งบการเงิน SSI ขาดทุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สุดท้ายจึงต้องประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบน ภายใต้ชื่อ “สหวิริยา ยูเค” (SSI UK) เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558 โดยรายได้จากการขายเหล็กของ SSI UK คิดเป็นกว่า 52% ของยอดขายรวมของ SSI เลยทีเดียว

ผลจากการปิดโรงถลุงเหล็ก ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่ SSI UK ตัดสินใจเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่มีอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงินทันที และด้วยจากฐานะทางการเงินขณะนั้น SSI UK ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ กลุ่มสถาบันการเงินเจ้าหนี้ใหญ่ จึงขอให้ SSI (บริษัทแม่) ต้องร่วมรับผิดชอบการชำระหนี้ดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกัน SSI UK สำหรับหนี้ประมาณ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 28,000 ล้านบาท)

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเสื่อมถอยทาง “งบการเงิน” ด้วยเช่นกัน ทำให้ SSI จึงกลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ จนเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้ SSI ต้องถูกเพิกถอนออกจากบริษัทจดทะเบียนในที่สุด

บทเรียนราคาแพงหุ้น SSI ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า..นี่คือ “ความผิดพลาดของผู้บริหาร” หรือ “สถานการณ์การลงทุนไม่เอื้อ” กันแน่  ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร..แต่หุ้น SSI ถูกปิดตำนานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว..!!??

Back to top button