จีนฟื้น แล้วไทยล่ะ

ข่าวจากประเทศจีน นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ประกาศมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ของปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 3.2 ภายหลังไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP ติดลบร้อยละ 6.8


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ข่าวจากประเทศจีน นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ประกาศมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ของปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 3.2 ภายหลังไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP ติดลบร้อยละ 6.8

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุถึงตัวเลข GDP ที่ขยายตัวดีเกินคาด ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลจีนยุติการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของจีน ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบโควิด-19

สำนักงานสถิติฯ ระบุต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกนั้น อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน เผชิญกับอุปสรรคบางส่วนก็ตาม

ความเป็นไปของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอันมาก ในท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจโลก อย่างน้อยก็มีประเทศจีนประเทศหนึ่งล่ะ เป็นเสาหลักในการฟื้นฟู

แล้วประเทศไทยเราล่ะ จะฟื้นตัวออกจากวงจรเศรษฐกิจได้เมื่อไหร่ ยังไง!

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ดิ่งลึกสุด ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะค่อยๆ เห็นการฟื้นตัวเป็นลำดับในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้

แต่อย่างไรก็ดี นายดอนพูดเป็นนัยว่า แต่หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เกิดการระบาดรอบ 2 การผิดนัดชำระหนี้ของโลกเกิดขึ้น กรณีนี้อาจทำให้ ไตรมาส 2 ไม่ใช่จุดต่ำสุด”

ความรู้สึกหลังฟังผอ.อาวุโสแบงก์ชาติ ก็รู้สึกดีต่อใจนะครับ แม้ว่าในข้อเท็จจริงและบรรยากาศที่ปกคลุมในเวลานี้ บอกตามตรงว่า ไม่มีอะไรสดใสให้เห็นเลย

การป้องกันการระบาดของโควิดในประเทศ ค่อนข้างจะทำได้ดี ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 50 วันแล้ว แต่ก็ดันมีการละเมิดจากระบบอภิสิทธิ์ที่หละหลวมขึ้นมาอีก จังหวัดระยองซึ่งเกิดเหตุ ต้องมาปิดล็อกกันใหม่อีก ธุรกิจท่องเที่ยวพังทั้งแถบ ต้องปิดตัวรอฟื้นรอบ 2 กันใหม่

การเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ทีมงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจภายใต้การนำของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถูกกดดันจากภายในพรรคพปชร.ให้ลาออก

เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเหตุผลการชิงอำนาจกันเองในพรรคการเมือง หาใช่เพื่อการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินงานที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดจากมาตรการพักชำระหนี้ว่า คงเป็นมาตรการเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่อาจใช้ได้ในระยะยาว และเกิดผลข้างเคียงคือการบิดเบือนระบบ อันนำไปสู่การบั่นทอนระบบการเงินของประเทศให้เกิดความอ่อนแอในที่สุด

มาตรการปล่อยซอฟต์โลน SME 5 แสนล้าน ซึ่งน่าจะถือเป็นมาตรการที่ดีมาตรการหนึ่ง หากทำสำเร็จ แต่ในทางปฏิบัติเป็นจริง เพิ่งจะช่วยเหลือ SME ได้เพียงแค่ 1 แสนล้านบาท และอายุของเงินซอฟต์โลนก้อนนี้ ก็จะหมดลงภายในสิ้นปี 2563นี้

ไม่มีรายงานเป็นประการใดเลยว่า ทำไมช่วยเหลือ SME ได้น้อย อุปสรรคเกิดจากอะไรบ้าง

แต่เท่าที่ผมดูแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหนีไม่พ้นเกณฑ์ จะต้องมีหลักทรัพย์คุ้มหนี้จึงจะปล่อยกู้ หรือหากหลักทรัพย์ไม่คุ้ม ก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยแพง ก่อภาระต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นไปอีก ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาในเวลานี้เป็นอันมาก

ดูไปแล้วก็ยังย้อนแย้ง ที่สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ยังอยู่ในระดับสูงมาก แต่ไม่อาจจะปล่อยสินเชื่อได้

แบงก์ชาติคงต้องหาทางคลี่ปมในภาคปฏิบัติปมนี้ออกไปให้ได้ เช่นจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือบสย.เข้ามาช่วยเพิ่มวงเงินค้ำประกันดีไหม ไม่เช่นนั้น “ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน” ที่ตั้งใจก็จะเป็นแค่ตัวเลขที่ตั้งเอาไว้ดูโก้เท่านั้น หาได้มีมรรคผลที่เป็นจริงแต่อย่างใดไม่

ดูด้วยตาแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุดหรอกครับ ยังจะมีอะไรต้องทำอีกมาก

Back to top button