“ธปท.” ชี้วิกฤต “โควิด”-“การเมืองไทย” ไม่นิ่ง ฉุดเชื่อมั่น-ศก.ผันผวน กดบาทอ่อนค่า

“ธปท.” ชี้วิกฤต “โควิด”-“การเมืองไทย” ไม่นิ่ง ฉุดเชื่อมั่น-ศก.ผันผวน กดบาทอ่อนค่า


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากผลพวงของสถานการณ์โควิด-19 โดยมองว่าจะมีความผันผวนมากขึ้นในตลาดการเงิน และตลาดทุนที่เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด รวมถึงการแพร่ระบาดในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งเมื่อมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงในระบบการเงินโลก จึงทำให้เกิดความผันผวนได้ง่ายขึ้นเมื่อมีข่าวหรือมีข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

  “ค่าเงินบาท เหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งมาจากปัจจัยในประเทศ และอีกด้านมาจากปัจจัยต่างประเทศ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมซึ่งมีผลต่อค่าเงินของเรา ช่วงที่ผ่านมา อาจมีกระแสเงินไหลออกบ้าง ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย ผลกระทบการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะยังไปอีกนาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่อาจสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้บาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงดอลลาร์สหรัฐ” นายวิรไท ระบุ

นายวิรไท มองว่า ขณะนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาเครื่องมือทางการเงิน หรือใช้การล็อกเรตสำหรับรายได้จากการส่งออกในอนาคตไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าทิศทางของค่าเงินในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

นายวิรไท ยังระบุด้วยว่า ไม่กังวลต่อสถานการณ์เงินทุนไหลออก เนื่องจากประเทศไทยมีกันชนด้านต่างประเทศรองรับอย่างเข้มแข็ง แม้ปัญหาโควิดจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยค่อนข้างรุนแรง แต่ยังคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ขณะเดียวกันไทยไม่ได้พึ่งพาหนี้ต่างประเทศมากนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูง

“แม้จะมีเงินไหลออกบ้างในบางช่วง ก็ไม่ได้มากระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือมากระทบอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ดังนั้นไม่ต้องกังวล”

นอกจากนี้ นายวิรไท ยังกล่าวถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาทด้วยว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อไปกว่าแสนล้านบาทแล้ว ซึ่ง พ.ร.ก.นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในเบื้องต้น และส่วนที่สองช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลง ทั้งนี้ ใน พ.ร.ก.ดังกล่าวของ ธปท. แม้จะกำหนดระยะเวลาไว้ว่าสิ้นสุดเดือน ธ.ค.63 แต่สามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

“เราจะเสนอให้มีคนต่ออายุออกไปจนถึงสิ้นปี 64 ซึ่งจะช่วยให้ซอฟต์โลนที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่นี้ ช่วยในเรื่องการฟื้นฟูได้ เป็นต้นทุนดอกเบี้ยต่ำให้ภาคธุรกิจในช่วงฟื้นฟูเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา อาจมี บสย.เข้ามาร่วมค้ำประกันสินเชื่อมากขึ้น เพราะตาม พ.ร.ก. การชดเชยความเสียหายจะอยู่ในช่วง 2 ปี แรกในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการจึงเห็นว่าหากมีการค้ำประกันสินเชื่อได้ระยะยาวขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เป็นแนวทางที่กำลังพิจารณา”ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

Back to top button