“ปชป.” แนะว่าที่ ครม.ใหม่ เร่งเบิกจ่ายงบ-แก้ปัญหาคนตกงาน สานต่อแผนฟื้นฟูศก.

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะว่าที่ ครม.ใหม่ เร่งเบิกจ่ายงบ-แก้ปัญหาคนตกงาน สานต่อแผนฟื้นฟูศก.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ก.ค.63) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคฯ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว พรรคประชาธิปัตย์ ถึงเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ ครม. ชุดใหม่ต้องโฟกัสและลงมือทำ

โดยระบุว่า การแถลงข่าวครั้งนี้สืบเนื่องจากประเด็นที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากที่มีการลาออกของรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ทำให้ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. รวมถึงหลายฝ่าย กังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องในเรื่องของการทำงาน กังวลเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง และไม่อยากให้กระบวนการแก้ไขปัญหาของประเทศต้องสะดุดลง ซึ่งสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. เห็นความสำคัญและแก้ไขมาโดยตลอดคือปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อช่วยแก้ปัญหาปากท้องประชาชน

นายปริญญ์ กล่าวว่า มี 4-5 ประเด็นหลักๆที่สำคัญ อยากให้ครม.ชุดใหม่โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจเร่งดำเนินการ

ประเด็นที่ 1 คือการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินจากทุกภาครัฐ เพื่อใช้ดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ประเด็นที่ 2 คือเร่งแก้ปัญหาคนตกงาน ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้ผู้ที่ตกงาน หรือผู้ที่อยากจะเสริมทักษะ สมรรถนะในแรงงานฝีมือยุคใหม่ได้มีงานทำ ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทางทีมเศรษฐกิจพรรคเชื่อว่าต้องมีการช่วยแก้วิกฤตอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ บางมาตรการที่อาจจะต้องทำ คืออาจจะต้องพิจารณาช่วยบริษัทขนาดเล็ก ขนาดย่อม จ่ายเงินเดือนพนักงาน ซึ่งข้อเสนอนี้มีความเชื่อมโยงกับมาตรการช่วยคนตัวเล็ก เอสเอ็มอี วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากทุกวันนี้เอสเอ็มอีหลายแห่งทยอยปิดกิจการ ปลดคนงาน ตรงส่วนนี้ ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรที่เอสเอ็มอีเหล่านี้ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีการปิดประเทศ

ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็น 2 กระทรวงที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด  ต้องมีการจัดสรรงบประมาณมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เกษตรผลิต คือดูแลในส่วนของคุณภาพของสินค้าและการจัดเก็บข้อมูล Big Data ที่กระทรวงเกษตรฯพยายามทำ และขับเคลื่อนผ่านศูนย์นวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งได้เปิดทำการครบ 77 จังหวัดแล้ว นายปริญญ์ ระบุว่า ตรงส่วนนี้ทำอย่างไรที่งบประมาณจะลงไปให้ถึงและทันท่วงที เพราะพี่น้องเกษตรกรเจ็บตัวหนักมาจากปัญภัยแล้งแล้ว ขณะที่ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งนี้เชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ  กรมชลประทาน และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำชุมชนต้องช่วยกันแก้อยู่แล้ว

ส่วนพาณิชย์ตลาด ดูแลเรื่องช่องทางการตลาดยุคใหม่ e-Commerce ซึ่งตนคิดว่าเป็นช่องทางที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตรงส่วนนี้ต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อมาช่วยให้เกษตรกรยุคใหม่ สหกรณ์ยุคใหม่ หรือล้งชุมชน สามารถลืมตาอ้าปากหรือเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้

ประเด็นที่ 4 กลุ่มเปราะบาง ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับ 2-3 กระทรวง กลุ่มเปราะบางในที่นี้ คือทั้งเด็กแรกเกิด ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงกลุ่มคนที่ตกงานไม่สามารถหางานได้ตอนนี้ รัฐบาลจะทำอย่างไรถึงจะดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ มองว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องในการเยียวยาผู้พิการที่ พม.ได้เดินหน้ามาแล้ว ต้องทำต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ต้องดูว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างงานให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เช่น งานประดิษฐ์ โอท็อป สินค้าชุมชน ที่มาสามารถทำที่บ้านได้ แล้วรัฐนำมาช่วยหาตลาด

ท้ายที่สุดเรื่องลดภาระค่าใช้จ่าย นายปริญญ์ กล่าวว่า ต่อให้เสริมเรื่องรายได้ เรื่องเงินแล้ว กระทรวงการคลังเองมีอำนาจที่จะสั่งการรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่กระทรวงการคลังดูแล กระทรวงมหาดไทยก็ดี กระทรวงพลังงานที่คุมเรื่องการไฟฟ้าก็ดี เพราะฉะนั้น มาตรการค่าไฟ ค่าน้ำประปา ต้องดูว่าสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากกว่านี้หรือไม่

“ผมเชื่อว่าทำได้ เพราะว่าตอนนี้องค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐ ไม่ควรทำกำไรจากพี่น้องประชาชนที่เจ็บตัวมากๆจากพิษโควิดแล้ว จากการล็อกดาวน์ จากการปิดประเทศในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเจ็บตัวตรงนี้ต้องมีการเยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ของกลุ่มเอสเอ็มอี ยืดเวลาการยื่นภาษี นโยบายที่เกี่ยวกับภาษี การยืดเวลาจ่าย การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ” นายปริญญ์ กล่าว

ข้อเสนอสุดท้าย คือเรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการใช้เม็ดเงินงบประมาณ ซึ่งนายปริญญ์ กล่าวว่า ทุกบาททุกสตางค์มีความหมาย เพราะฉะนั้นการมีรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลเปิด มีการเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ ใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อน ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องกล้าที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบอย่างโปร่งใส เชียร์ให้ทำ ไม่ใช่เฉพาะยุคที่มีโควิด  แต่ว่าหลังหมดโควิดไปแล้ว รมว.คลังคนใหม่ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ จะต้องเร่งดำเนินการสิ่งเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้

 

Back to top button