“คลัง” จัดเก็บรายได้รัฐ 8 เดือน ปีงบ 63 ต่ำเป้า 11.2% ผลกระทบมาตรการภาษี เยียวยา “โควิด”

“กระทรวงการคลัง” เผยผลจัดเก็บรายได้รัฐ 8 เดือน ปีงบ 63 ต่ำเป้า 11.2% ผลกระทบมาตรการภาษี เยียวยา “โควิด”


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62 – พ.ค.63) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,500,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 189,695 ล้านบาท หรือ 11.2%

โดยเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และความจำเป็นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่าง ๆ ออกไปเป็นภายในเดือน ก.ค.-ก.ย.63 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

  “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ปกติ จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติได้ ดังนั้น ขอให้ระมัดระวังในการนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ด้วย” นายลวรณ ระบุ

ทั้งนี้ หน่วยงานที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ได้แก่

1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,086,974 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 139,113 ล้านบาท หรือ 11.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่หดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในเดือนเม.ย. และ พ.ค.63 ออกไปเป็นภายในวันที่ 1 มิ.ย.2563

– ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในเดือนส.ค.63 และสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ออกไปจนถึงเดือนก.ย.63 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 53) จากอัตรา 3% เหลืออัตรา 1.5% ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ก.ย.63

– ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ออกไปเป็นภายในเดือนส.ค.63

2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 362,122 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 70,960 ล้านบาท หรือ 16.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

– ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ประกอบกับมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีที่ต้องชำระในเดือนพ.ค. และ มิ.ย.63 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 ก.ค.63

– ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้กว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันฯ ที่ผลิตในราชอาณาจักรในเดือนเม.ย. – มิ.ย.63

3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 64,384 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,516 ล้านบาท หรือ 11.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 11,929 และ 4,747 ล้านบาท หรือ 10.1% และ 3.3% ตามลำดับ

Back to top button