“วีระศักดิ์” แนะกระตุ้นไทยเที่ยวไทย-สร้างชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนศก. ทางรอดหลัง “โควิด”

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” อดีต รมว.ท่องเที่ยว แนะรัฐเร่งกระตุ้นไทยเที่ยวไทย-สร้างชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้ทางรอดหลังวิกฤต “โควิด"


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในงานสัมมนา RESTART THAILAND “พลังชุมชน พลิกฟื้นฐานรากเศรษฐกิจไทยยุค Post Covid-19″ ว่า ต้องอาศัยการเดินทางภายในประเทศที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งในปีปกติที่คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 177 ล้านคน/ครั้ง ใช้จ่าย 1 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 คงไม่ใช่เวลาที่จะกระตุ้นให้รีบควักเงินออกมาใช้ แทนที่จะคาดหวังจาก 1 ล้านล้านบาทที่คนไทยเที่ยวไทย อาจจะคาดหวังแค่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่เท่ากับที่กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19

“ไทยเที่ยวไทยจึงเป็นพลังของการขับเคลื่อนให้คนไทยออกไปรู้จักบ้านตัวเอง รู้จักวิถีชุมชนซึ่งใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ใช้สิ่งที่ได้รับการสืบทอดต่อมา”

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กทม. นนทบุรี และจังหวัดใหญ่ๆ แต่คนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจมากๆ คือ คนต่างจังหวัด เพราะระบบ Supply Chain กระบวนการส่งของเข้าจากแหล่งผลิตในต่างจังหวัด เมื่อแหล่งบริโภคอย่างเมืองหลักลดลง คนกินเท่าเดิม แต่อัตราการเดินเข้าร้านอาหาร ภัตตาคารถูกหั่นออกไปเกิน 50% ทำให้คำสั่งซื้อไปยังผู้ปลูกผู้ผลิตลดลงทันที

และคนที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดคือคนที่ออมน้อย เช่น หนุ่มสาว และคนหนุ่มสาวนี้คือกลุ่มคนที่ถูกดึงเข้าระบบอุตสาหกรรม ดึงเข้าสู่เมือง ดึงพลังที่เคยสร้างชุมชนหายไป นี่คือโอกาสที่จะคืนความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพราะความลำบากจะทำให้ไม่เลือกงาน หาทรัพยากรเพียงพอให้กลับคืนมาสู่การสร้างตัวได้ คือ วัฒนธรรมชุมชน ที่บรรพบุรุษเก็บไว้ให้และปรับปรุงพัฒนาให้กลายเป็นร่วมสมัยและเอากลับเข้าสู่ตลาดด้วยเทคโนโลยี ใช้ความสามารถในการออกแบบดีไซน์ อธิบายความห่วงใยสิ่งแวดล้อมได้ดี

“ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับโควิดกำลังให้โอกาสกับเรา ในขณะที่ต่างประเทศกำลังวุ่นวายกับอัตราการสูญเสียจากโควิดสูงมากและทุกวันยังมีคนติดเชื้อเกิน 2 แสนคนไปเรื่อยๆ แต่ไทยมาถึงจุดที่ไม่ได้กังวลเรื่องคนติดเชื้อ แต่เรากำลังกังวลเรื่องคนอด โลกกลัวอดมากกว่าเรา เพราะเราเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแรง ยังไงเราก็จะไม่อดตายถ้าเราบริหารมัน” อดีต รมว.ท่องเที่ยว กล่าว

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ตอนนี้ต้องกระตุ้นไทยเที่ยวไทยให้มากกว่านี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วิกฤตครั้งนี้ทำให้รู้ว่าจะไปพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากนักก็ไม่ดี เพราะน้ำหนักของการท่องเที่ยวเรา 70% มาจากต่างประเทศ 30% มาจากในประเทศ พอเกิดวิกฤตจึงเกิดความเสียหาย อนาคตระยะยาวต้องทำให้ได้ 50:50

สำหรับปีนี้ ตอนนี้แน่ๆคือไตรมาส 3/63 เป็นศูนย์…5 แสนล้านบาทสูญหายไป ไตรมาส 4/63 ก็น่าจะไม่มีเข้ามา หรืออาจจะมีมาแบบจำกัด จากโครงการ 3 จังหวัด 6 เกาะนำร่อง มาเที่ยวแบบมีการกำหนดกฎเกณฑ์และมั่นใจว่าประชาชนคนไทยปลอดภัยด้วย…เพราะฉะนั้นทั้งปีรายได้จะหายไป 1.5 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ คิดเป็น 10% ของจีดีพี”

อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะเป็นวิกฤตที่คาดไม่ถึง ไม่ใช่ความผิดของเอกชน รัฐบาลจำเป็นต้องปิดน่านฟ้าทำให้ไม่มีธุรกิจเกิดขึ้นเลย ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้อย่างไร แน่นอนที่มีบางส่วนหยุดไป แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ อะไรที่เริ่มต้นก็ต้องมีจบ โควิดก็ต้องจบ แต่เราจะปล่อยให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปหรือ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเยียวยาอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภาพรวมของมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ให้กู้ ดอกเบี้ยถูก แต่เท่าที่ทราบมีแค่ 10% ที่เข้าถึงการเยียวยา ตอนนี้แรงงานภาคการท่องเที่ยวทางตรงมีไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งไม่ต่ำกว่าครึ่งต้องตกงาน อยากให้ Soft Loan ที่ออกมาขอให้เข้าถึงง่าย ที่เคยเสนอคือเอาค่าใช้จ่ายของปีที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด ไม่ว่าจะเป็นค่าดูแลพนักงาน ค่าออฟฟิศ เช่นปีที่แล้วมีค่าใช้จ่าย รวม 5 แสน ก็ให้เรา 5 แสน ไม่ใช่พิจารณาจาก NPL ต้องมีการคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม โครงการกำลังใจซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ถ้าเป็นไปได้ภาคเอกชนอยากขอให้มีการขยายระยะเวลาโครงการไปถึงไตรมาส 1/64 เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาเหมือนเดิมไม่ได้ จากปกติไตรมาสละ 10 ล้านคน แต่กว่าทุกอย่างจะจบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีน ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกเรื่องก็ต้องมีระยะเวลา ฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องเยียวยาและต้องให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่เข้าถึง

ด้านน.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวไทยถือว่าได้บาดเจ็บสาหัส เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั้งปีคาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติน่าจะไม่ถึง 7 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้เป็น 41.8 ล้านคน  โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 6 ล้านกว่าคน

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยช่วง 4 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวสะสม 39 ล้านคน/ครั้ง แต่หลังจากมีมาตรการผ่อนคลาย นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มเดินทางมากขึ้นทำให้ มิ.ย.-ก.ค.มีนักท่องเที่ยวไทยสะสม 50 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งการเดินทางของคนไทยเป็นการสร้างโอกาสในการอยู่รอดของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในยุคโควิด-19 สิ่งสำคัญคือ Trust ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในสุขอนามัย ความมั่นใจในความปลอดภัยด้านสาธารณสุข จึงเป็นที่มาในการสร้างตราสัญลักษณ์ Safty and Health Administrtion : SHA คือโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เป็นอาวุธลับในการทำการตลาดของททท.สำนักงานต่างประเทศในการทำตลาดแบบ Hard Sale

โดยกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA ได้ มี 10 หมวด ได้แก่ 1. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. โรงแรม/ที่พัก และสถานที่จัดประชุม 3. นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ยานพาหนะ 5. บริษัทนำเที่ยว 6. สุขภาพและความงาม 7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9. โรงละคร โรงมหรสพและการจัดกิจกรรม และ 10. ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่น

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลังโควิด มี 5 Re คือ Rebuild, Rebalance, Refresh, Reboot, และ Rebound

Rebuild คือ การทำเรื่องของ Safty and Health Administrtion ร่วมกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

Rebalance คือ มีการ MOU กับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการบริหารแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

Refresh คือ มีการทำตลาด”คิดถึง..คิดถึงเมืองไทย คิด..แล้วไปให้ถึง”

Reboot เริ่มทำในเรื่องของ”เที่ยวปันสุข” ในโครงการเที่ยวปันสุข และ กำลังใจ วัตถุประสงค์เพื่อส่งกำลังใจให้บุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการที่ทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศดี อีกส่วนคือให้บริษัทนำเที่ยวมีเงินทุนหมุนเวียน

Rebound อาจจะต้องรอสถานการณ์นิ่ง แต่อาจจะทำแบบ “ภูเก็ตโมเดล”ทั้ง Seal และ Safe คือ Seal คนที่อยู่ในพื้นที่ และ Safe นักท่องเที่ยวที่จะไป

“รัฐบาลและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเพื่อความอยู่รอดและให้เศรษฐกิจไม่หยุดชะงักแบบนี้”

 

Back to top button