แพนิกกลุ่มแบงก์

วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารพากันร่วงระนาว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารพากันร่วงระนาว

นำโดยแบงก์ขนาดใหญ่ KBANK SCB KTB TMB และ BAY

มีเพียง BBL ที่บวกสวนจากปัจจัยเรื่องเข้าคำนวณฟุตซี่ FTSE และจะมีผลในวันที่ 18 ก.ย.นี้

หุ้นแบงก์ที่ปรับลง

ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้าแล้ว เพราะมีข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่ง นั่นคือ “อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ศาสตราภิชาน แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์รังสรรค์ บอกว่า โควิค-19 จะสร้างผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างหนัก

และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารอย่างน้อย 3 แห่ง อาจจะ “ล้ม”

ข่าวดังกล่าวมีออกมาตั้งแต่ช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแล้ว

ทว่ากลับมาถูกแชร์ออกไปเรื่อย ๆ ในช่วงวันศุกร์ และเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา

ข่าวนี้สร้างความตื่นตกใจให้กับคนได้รับข่าวค่อนข้างมาก

พร้อมกับพยายามติดตามข้อมูลว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ออกมาให้ข้อมูลทันที ด้วยการระบุว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยนั้น

“แข็งแกร่งมาก”

อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio เฉลี่ยอยู่ที่ 19.2%

สัดส่วนเงินกองทุนนี้ถือว่า “สูงมาก”

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ธปท.ได้ออกมาให้ข้อมูลระบบแบงก์ไทยอยู่ค่อนข้างบ่อยครั้ง

เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทั้ง ธปท. และธนาคารต่าง ๆ มีมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตที่ว่านี้ได้

เมื่อมีข่าวในเชิงลบจากโควิค-19

ธปท. ก็ต้องออกมาตอกย้ำข้อมูลแบบล่าสุดทุก ๆ  ครั้ง

บางครั้ง ถึงกับต้องออกมาบอกว่า ฐานะเงินกองทุนของระบบแบงก์ไทย แข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ในทางกลับกัน

ผู้บริหารของธนาคารเอง ต่างก็ออกมาให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน และนักลงทุนว่า อย่ากังวล และธนาคารยังมีความเข้มแข็งทางการเงินสูงมาก

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ ต่างมีการประเมินว่า

หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

นั่นอาจทำให้หนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล” ของธนาคารต่าง ๆ ดีดตัวสูงขึ้น

มีการทำตัวเลขแบบกรณีเลวร้ายสุด หรือ Worst case ว่า บรรดาหนี้ต่าง ๆ ที่เข้ามาตรการ ที่สุดแล้วจะมีส่วนที่เป็นหนี้เสียราว ๆ 10% ของสินเชื่อ (ที่เข้ามาตรการ)

และเมื่อมาดูกับเงินกองทุนฯ ของแบงก์ ต่าง ๆ

พบว่า ทั้งหมด จะสามารถรับมือกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นได้ และไม่น่าจะมีแบงก์ไหนที่มีปัญหา

แบงก์…ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 อาจจะมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น (บ้าง)

แต่ก็จะไม่ได้กระทบกับกำไร กระทั่งทำให้ผลประกอบการออกมาขาดทุน

นักวิเคราะห์ ต่างมองว่า กำไรของแบงก์อาจจะปรับลดลงบ้างในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ และต้นปี 2564

จากนั้นสถานการณ์ของระบบแบงก์จะค่อยเริ่มกลับมาดีขึ้น

หรืออย่างเร็วคือช่วงครึ่งหลังของปี 2564

สรุป….ไม่มีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์แห่งไหนที่บอกว่า แบงก์จะมีปัญหา จนนำไปสู่การล้ม

เช่นเดียวกับนักธุรกิจ นักการเงิน ต่างออกมาให้คำมั่นถึงความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินไทยว่า จะไม่มีอะไรในกอไผ่ อย่ากังวล และอย่าตื่นตระหนก

มีนักวิเคราะห์แนะนำด้วยว่า

ช่วงที่ราคาหุ้นแบงก์ปรับลงมา เป็น “โอกาส” ที่จะ “ทยอยสะสม” เข้าพอร์ต (สำหรับนักลงทุนระยะปานกลาง-ยาว)

ส่วนนักลงทุนระยะสั้นให้เลี่ยงไปก่อน

เพราะราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์

น่าจะเผชิญกับความผันผวนไปอีกสักพัก

Back to top button