เปิดแฟ้มลับคดี “เสี่ยชูวงษ์” โอนหุ้นพิศวาสแค่ยกแรกก็ทำเอาผู้เกี่ยวข้อง “หงายเงิบ”

จากกรณีการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ “เสี่ยจืด” นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ซึ่งต่อมา นายกันต์ แซ่ตั๊ง บุตรชายของผู้เสียชีวิต ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เพื่อให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่บิดาตน ได้โอนหุ้นให้กับผู้อื่น โดยมีการระบุข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารการโอนหุ้นดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า อาจเข้าข่ายการกระทำผิดได้


จากกรณีการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ “เสี่ยจืด” นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ซึ่งต่อมา นายกันต์ แซ่ตั๊ง บุตรชายของผู้เสียชีวิต ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เพื่อให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่บิดาตน ได้โอนหุ้นให้กับผู้อื่น โดยมีการระบุข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารการโอนหุ้นดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า อาจเข้าข่ายการกระทำผิดได้

 

ทั้งนี้ ทางครอบครัวและญาติของ นายชูวงษ์ ได้ขอให้มีการตรวจสอบเอกสารการโอนหุ้น เนื่องจากพบว่า มีการแก้ไขเนื้อหาบางใจความภายในเอกสารดังกล่าว ขณะที่ในเบื้องต้น มีการยืนยันแล้วว่า ลายเซ็นที่ปรากฏอยู่บนเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นของ นายชูวงษ์ จริง แต่ได้มีการตั้งประเด็นในส่วนของจุดประสงค์การโอนหุ้นว่า มีการแก้ไขจาก “การโอนหุ้นเพื่อจำนำ” เป็น “การโอนหุ้นเพื่อจำหน่าย”

ล่าสุด แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะสามารถกระทำการจำนำหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ได้ บุคคลนั้นต้องมีบัญชี Credit Balance หรือที่มักถูกเรียกว่า บัญชีมาร์จิ้น เปิดไว้อยู่กับทางบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งผลจากการตรวจสอบ ปรากฏว่า นายชูวงษ์ ไม่เคยกระทำการเปิดบัญชีประเภทดังกล่าวไว้กับทางบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเลย

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบประเด็นเรื่องอาจมีผู้อื่นลักลอบเป็นผู้ดำเนินการโอนหุ้นของ นายชูวงษ์ พบว่า รายการโอนหุ้นดังกล่าวถูกดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2558 โดยเป็นการทำรายการอย่างถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนของข้อกำหนดในการโอนหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถยืนยันได้จากเทปบันทึกเสียงสนทนา ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์และนายชูวงษ์

 

ขณะเดียวกัน ระบบซื้อ-ขายหลักทรัพย์ออนไลน์ หรือที่มักเรียกกันว่า “สตรีมมิ่ง” จะทำการายงานผลผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ทันที หลังการดำเนินการโอนหุ้นเสร็จสิ้น โดยระบบจะรายงานจำนวนหุ้นที่ถูกโอนออกไปและจำนวนหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมด อีกทั้งมีหลักฐานยืนยันว่า ทางบริษัทหลักทรัพย์ได้ทำการส่งใบยืนยันการโอนหลักทรัพย์ไปให้ นายชูวงษ์ เพื่อรับทราบอีกทางหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2558 หรือประมาณ 16 วัน ก่อนหน้าการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ ที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558

“คุณชูวงษ์ไม่มีบัญชีมาร์จิ้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่เขาต้องจำนำหุ้น และไม่สามารถทำได้ด้วย ส่วนเรื่องการโอนหุ้น ถ้าหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลจริงๆ คุณชูวงษ์ คงออกมาแจ้งความตั้งแต่ก่อนเสียชีวิตแล้ว เพราะมีเวลาตั้ง 2 อาทิตย์กว่าๆ อีกอย่างถ้ามองถึงความก้าวหน้าของระบบต่างๆในตลาดหุ้นไทย มันไม่น่าใช่เรื่องง่ายหากใครคิดจะโขมยหุ้นของใคร” แหล่งข่าวกล่าว

ที่สำคัญคือ นี่เป็นอีกหนึ่งข้อมูลอีกด้านที่น่าจะทำให้ บล.เออีซี ล้างมลทินได้อย่างใสสะอาด และยังทำให้ผู้ไม่หวังดีหงายเงิบกันเป็นแถบ บวกกับข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการเปิดเผยข้อมูลชุดแรกที่ต้องการให้สังคมได้ตั้งสติคิดกันนิดหนึ่ง และยังจะมีข้อมูลชุดที่สอง ชุดที่สาม ฯลฯ ทยอยออกมาเรื่อยๆ ย่อมเป็นการตีแผ่ข้อมูลอีกด้านให้สังคมได้รับรู้

เมื่อความจริงทุกอย่างปรากฏออกมาสู่สาธารณชน เมื่อนั้นคงทำให้สังคมได้เห็นว่า “ไอ้โม่ง” ที่อยู่เบื้องหลังเป็นใคร?

Back to top button