“พาณิชย์” เผยส่งออก ส.ค. หดตัวน้อยลง สะท้อนผ่านจุดต่ำสุด มั่นใจ ทั้งปีติดลบไม่ถึง 2 หลัก

“กระทรวงพาณิชย์” เผยส่งออก ส.ค. หดตัวน้อยลง สะท้อนผ่านจุดต่ำสุด มั่นใจ ทั้งปีติดลบไม่ถึง 2 หลัก


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ส.ค.63 โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง -7.94% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -13%  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -19.68% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -7.75% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -15.31% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือนส.ค. หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับการหดตัว -11.37% ในเดือนก.ค. 63 และมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจีน

“การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย.63 และเริ่มชะลอตัวในอัตราที่ลดลง โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาแตะระดับ 2 หมื่นในรอบ 5 เดือน และเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2”

สำหรับปัจจัยที่ช่วยทำให้การส่งออกไทยในเดือนส.ค. กลับมาแตะระดับที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้ มาจากการค้าโลกมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยดูได้จากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เริ่มกลับสู่ภาวะฟื้นตัวหลังจากหลายประเทศมีการคลายล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางเรือ ทางเครื่องบิน ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของโลกกลับมาแตะระดับสูงกว่า 50

นอกจากนี้ สินค้าอาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวพรีเมียม ทูน่ากระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสินค้าเพื่อการป้องกันไวรัสโควิด เช่น ถุงมือยาง และสินค้าที่ใช้เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการกลับมาขยายตัวเช่นกัน ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศช่วยสนับสนุนอุปสงค์ให้ฟื้นตัวดีขึ้น

ด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวหลังจากได้หดตัวไปในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเมียนมา ซึ่งสะท้อนว่าภาพรวมการค้าโลกได้เริ่มฟื้นตัวขึ้น และส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทย

“การส่งออกไปตลาดสำคัญมีการฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องในหลายประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากหลายประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ประเทศคู่ค้ายังสามารถควบคุมได้ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงมีข่าวความสำเร็จในการสร้างวัคซีนต้านโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้าเริ่มกลับมาคึกคัก

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลให้การค้าชายแดนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น รวมทั้งจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้

น.ส.พิมพ์ชนก เชื่อว่า การส่งออกในภาพรวมของไทยปีนี้จะไม่ติดลบมากถึง 2 หลักตามที่หลายหน่วยงานได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สนค.คาดว่าหากมูลค่าการส่งออกไทยในอีก 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.63) สามารถทำได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีหดตัวที่ -5% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปีที่ 233,955 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากได้ไม่ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกก็จะหดตัวราว -8% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปีที่ 226,567 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะไม่ติดลบในระดับตัวเลข 2 หลักอย่างแน่นอน

“ภาพรวมส่งออกทั้งปีคงไม่ติดลบมากถึง 2 หลัก เพราะถ้า 4 เดือนที่เหลือ ทำได้มากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็จะติดลบราว 5% แต่ถ้าทำได้ไม่ถึงเดือนละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะติดลบราว 8%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

 

Back to top button