“ธนวรรธน์” ชี้ “โควิด”-ม็อบ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ก.ย. รับห่วงกระทบการฟื้นตัวศก.

“ธนวรรธน์ พลวิชัย” ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ “โควิด”-ม็อบ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ก.ย. รับห่วงกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 365 ตัวอย่าง ในเดือนก.ย.63 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 32.5 จากเดือนส.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.3

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ โดยคาดว่าจะติดลบน้อยลงเหลือ -7.8% จากเดิมที่คาดไว้ -8.1%, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวจากเดือนก่อน

ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนก.ย.นี้ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจ, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นในอดีต, รัฐบาลขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือน, การส่งออกไทยในเดือนส.ค.63 ลดลง -7.94% และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออกจากประเทศไทย

“ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ก.ย.นี้ แม้จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีฯ ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังมีความกังวลสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งความกังวลสถานการณ์ไวรัสโควิด” นายธนวรรธน์ ระบุ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 33.2 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และสถานการณ์โควิดในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ และจับจ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วง, ความวิตกกังวลโควิดรอบสอง, การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และธุรกิจขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการลดการจ้างงาน และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 32.7 โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย, ภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่, รัฐบาลขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง และกำลังซื้อที่ยังกลับมาไม่ปกติ การจ้างงานชะลอลง

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 36.8 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น, นักท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาโดยเฉพาะในวันหยุดยาว และเสาร์-อาทิตย์ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ คนตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้และแนวโน้มมีหนี้สินเพิ่มขึ้น, รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวยังชะลอตัว เนื่องจากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ความกังวลสถานการณ์โควิดที่เปราะบางต่อธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 31.7 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณผลผลิตเกษตรมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และสับปะรด เป็นต้น, สถานการณ์โควิดดีขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ซึ่งสร้างความเสี่ยงในการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยอีกครั้ง, การลดภาระต้นทุนทางธุรกิจ เช่น แรงงาน สวัสดิการ, หนี้นอกระบบยังมีสัญญาณการเพิ่มขึ้น และภาวะการมีงานทำลดลง จากการถูกเลิกจ้าง

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 32.6 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตรฟื้นตัวต่อเนื่อง จากพืชผลหลายชนิดทยอยออกสู่ตลาด เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา และกาแฟ เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุน, กำลังซื้อหดตัวอย่างต่อเนื่อง, การประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มมีสัญญาณของการปลดคนงานในกลุ่ม SMEs

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 29.4 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของภาคใต้, เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการลงทุน ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้, การถูกเลิกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และรายได้ครัวเรือนชะลอลง

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงและไม่คึกคัก

2.แนวทางหรือมาตรการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ควรทำอย่างรัดกุม โดยไม่ปล่อยให้โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศอีกระลอก

3.ดูแลสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

4.รัฐควรเร่งใช้งบประมษร และเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

5.หาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน

6.กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้อยากเข้ามาติดต่อธุรกิจกับประเทศไทยมากขึ้น

Back to top button