“ปชป.” แนะตั้ง “คกก.สมานฉันท์” ดึงตัวแทน 7 ฝ่ายจับเข่าคุย คลี่คลายวิกฤตการเมือง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นเจ้าภาพตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ ดึงตัวแทน 7 ฝ่ายจับเข่าคุย คลี่คลายวิกฤตการเมือง


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยวิสามัญ วันนี้ (26 ต.ค.63) ว่า การเปิดประชุมครั้งนี้ควรหาข้อยุติและทางออกของประเทศที่เป็นรูปธรรม โดยตนเองขอเสนอให้ประธานรัฐสภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งมีตัวแทนจากรัฐบาล, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ในการแสวงหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 52

โดยกรรมการชุดดังกล่าวจะยึดหลักการ 3 ข้อ คือ 1.ให้มีองค์ประกอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนของรัฐบาล, ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน, วุฒิสมาชิก, ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม, ฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงวุฒิ 2.ให้กรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกของประเทศซึ่งเป็นรูปธรรม อะไรที่เห็นพ้องต้องกันก็ให้ผู้มีหน้าที่รับข้อสรุปไปปฏิบัติทันที เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องที่ยังเห็นต่างกันอยู่ก็ให้แขวนรอไว้ก่อนแล้วเร่งหารือในเรื่องที่เห็นตรงกันเพิ่มเติม โดยใช้รูปแบบจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ และ 3.ให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

“หากทำได้ ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองก็จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะบางเรื่องบางประเด็นอาจต้องใช้เวลาและความจริงใจ ต้องรอเวลาตกผลึกร่วมกันจึงจะนำไปสู่คำตอบที่เห็นพ้องต้องกันได้ และหวังให้คนทั้งประเทศได้เห็นแสงสว่างถูกจุดขึ้นมาที่ปลายอุโมงค์” นายจุรินทร์ กล่าว

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมรัฐสภาควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกขั้นรับหลักการทันทีที่ดำเนินการได้ ไม่ควรจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจนทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติก่อนรับหลักการหรือเงื่อนไขอื่นใด เพราะมาตรา 256 ระบุไว้ชัดเจนว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการทำประชามติหลังจากผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเสนอให้วิป 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภา หาข้อยุติว่าการพิจารณาจะมีเฉพาะ 6 ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือรอร่างของไอลอว์ที่มาจากภาคประชาชน เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งมีนัยยะสำคัญ เพราะหากจะพิจารณาเฉพาะ 6 ร่างฯ ก็จะถูกกล่าวหาว่าทิ้งร่างฯ ของประชาชน แต่หากจะรวมร่างฯ ของไอลอว์ก็ต้องรอขั้นตอนอย่างน้อยถึงวันที่ 12 พ.ย.ซึ่งอาจถูกครหาว่าซื้อเวลาได้

“ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายจะได้ร่วมกันหาทางออก เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

 

Back to top button