พาราสาวะถี

อย่าได้บอกว่าเอกสารลับสมช.ต่อกรณีให้จับตา รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตทูตที่ร่วมม็อบราษฎรพร้อมดำเนินการไอโอตอบโต้เป็นของจริงหรือไม่ เพราะพฤติกรรมของฝ่ายความมั่นคงและคณะสืบทอดอำนาจตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้น คนทั่วไปสัมผัส รับรู้ได้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่การปรากฏขึ้นของข่าวดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภาวะขาลงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้าน


อรชุน

อย่าได้บอกว่าเอกสารลับสมช.ต่อกรณีให้จับตา รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตทูตที่ร่วมม็อบราษฎรพร้อมดำเนินการไอโอตอบโต้เป็นของจริงหรือไม่ เพราะพฤติกรรมของฝ่ายความมั่นคงและคณะสืบทอดอำนาจตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้น คนทั่วไปสัมผัส รับรู้ได้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่การปรากฏขึ้นของข่าวดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภาวะขาลงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้าน

ไม่ต่างกันกับกรณีของการปูดข้อมูลโดย อานนท์ นำภา ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออกก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ม็อบมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ ใช่ว่าจะเป็นข้อมูลอินไซด์อะไรทั้งนั้น หากแต่เป็นการทดสอบท่าทีของท่านผู้นำว่ามีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาที่มาจากความขัดแย้งอย่างไร ตั้งใจที่จะถอดสลักของปัญหาอย่างแท้จริงหรือกอดเก้าอี้แน่น ซึ่งการออกมาแถลงยืนยันของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็เป็นการบ่งบอกที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับประเด็นที่อานนท์ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปูดปมทหารเตรียมการรัฐประหาร ที่ตามมาด้วยทั้งพี่ใหญ่และฝ่ายกองทัพต่างออกมาปฏิเสธหน้าสลอน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริง หากแต่เป็นการเปิดเผยให้เห็นตัวตน ความเชื่อมโยงของขบวนการแห่งอำนาจว่าใครอยู่ภายใต้การบงการหรือบัญชาการของใคร เป็นการฉายภาพประจานขบวนการสืบทอดอำนาจ การสร้างรัฐราชการที่มองไม่เห็นหัวประชาชน

แค่เท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้วสำหรับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ต้องพูดถึงเป้าหมายของการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันพุธนี้ บิ๊กเซอร์ไพรส์ที่ได้ประกาศกันไปก่อนหน้าจะมีหรือไม่หรือแค่การ แกง” กันเท่านั้น ไม่มีใครตอบได้ แต่เชื่อได้เลยว่าปฏิบัติการของฝ่ายรัฐย่อมจะสกัดกั้นทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปถึงจุดหมายปลายทาง และแน่นอนว่าที่จะตามมาอีกด้านคือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งบทเรียนจากเหตุการณ์หน้ารัฐสภา เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องจดจำและทำให้เห็นว่าจะป้องกันเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงอย่างไร

ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบัน บอกมาหลายหนว่าเป็นสิ่งอ่อนไหวที่ทำให้เป็นจุดอ่อนของม็อบคณะนี้ แต่เมื่อทุกอย่างดำเนินการมาถึงขนาดนี้ ที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้เลยคือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ นั่นเป็นเพราะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวล หากอธิบายเองก็จะถูกมองว่าเต็มไปด้วยอคติ ดังนั้น สิ่งที่ ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษหัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติรอบเก็บตกวันวานจึงเป็นคำตอบของทุกอย่าง

ปัญหาที่ทำให้นักศึกษา ประชาชนออกมาชุมนุมและขยายไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องใหญ่ที่สุดคือของการสืบทอดอำนาจของผู้นำเผด็จการคสช. หาก 24 มีนาคม 2562 การตัดสินว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีส.ว.ที่ผู้นำเผด็จการเป็นคนเลือกไว้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ อย่าบอกว่าไม่รู้สึกรู้สาต่อประเด็นนี้ เพราะนี่ถือเป็นเจตนาดันเด่นชัดต่อการสืบทอดอำนาจ แต่ที่ผ่านมาใช้วิธีการตีมันหน้าทนเข้าไปไว้เท่านั้นเอง

ประเด็นต่อมาที่ปริญญาตีแสกหน้าก็คือ ในเรื่องหลักการของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ The king can do No Wrong พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ทรงโปรดเกล้าตามที่นายกฯ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นคนทำผิดทั้งหลายคือนายกฯ ไม่เข้าใจว่าท่านผู้นำเข้าใจหลัก The king can do No Wrong มากน้อยแค่ไหน แต่เป็นห่วงว่าอาจจะไม่ได้ยึดหลักการในข้อนี้ หลักการของนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยคือ ต้องรับผิดชอบและออกหน้า ไม่ใช่ไปอยู่ข้างหลัง”

การไปอยู่ข้างหลังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ อันนี้ก็ต้องแก้ ถ้าไม่มีการสืบทอดอำนาจก็ไม่มีการประท้วงในวันนี้ คำถามสำคัญคือนายกฯ ก่อนหน้านี้ล้วนแต่เคยถูกประท้วงมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่การประท้วงไม่เคยมาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเป็นการปกครองกันเองของประชาชนจะไม่กระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นนายกฯ ที่สืบทอดอำนาจต้องรับผิดชอบ

ไม่เพียงเท่านั้น ในเรื่องของการใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกกต. องค์กรอิสระก็มาจากส.ว. ซึ่งส.ว.ก็มาจากการเลือกของหัวหน้าคสช. เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่พอใจส.ว. องค์กรอิสระทั้งหลาย คนรับผิดชอบก็ต้องเป็นนายกฯ สิ่งที่ต้องสำเหนียกเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ประกาศยกระดับจัดการผู้ชุมนุมก็คือ การแก้ปัญหาจะต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาที่คนออกมาชุมนุม จะไปแก้ด้วยการไม่ให้ชุมนุม แก้ด้วยการไปจับกุมไม่ได้

แน่นอนว่าการชุมนุมต้องอยู่ในขอบเขต อะไรที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่แก้ที่การชุมนุม แก้ที่ต้นเหตุคือการสืบทอดอำนาจ ที่จริงสื่อมวลชนจะต้องไปถามท่านผู้นำว่า ต้นเหตุคือการสืบทอดอำนาจของท่านแล้วท่านไม่แก้หรือ” เรื่องการใช้กฎหมายที่รุนแรงนั้น หนนี้ไม่ใช่ครั้งแรกจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือตกใจแต่อย่างใด คำถามที่สำคัญคือ รู้กันอยู่แล้วว่าข้างหน้าคืออะไร

คนอย่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย่อมมองเห็นอยู่แล้วว่าข้างหน้าจะนำไปสู่อะไร คือเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง โดยที่ปริญญายังมองโลกสวยว่าวันนี้ยังไม่สายเกินไป อย่ารอให้ถึงทางตันแล้วค่อยมาหาทางออก เพราะพฤติกรรมของขบวนการสืบทอดอำนาจที่เห็นมาจนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าต้องการที่จะให้เจอทางตันเสียมากกว่า ความไม่จริงใจที่แสดงผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การใช้กำลังอย่างเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เหล่านี้สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่าฝ่ายกุมอำนาจเลือกที่จะเกาะเก้าอี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของชาติและประชาชน

Back to top button