รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า

จีนและญี่ปุ่น ต่างคนต่างกำลังซุ่มทำรถไฟฟ้าแม่เหล็กความเร็วสูง (Magnetic Levitation หรือ Maglev) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าลอยอยู่เหนือราง


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

จีนและญี่ปุ่น ต่างคนต่างกำลังซุ่มทำรถไฟฟ้าแม่เหล็กความเร็วสูง (Magnetic Levitation หรือ Maglev) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าลอยอยู่เหนือราง

นัยว่าแมกเลฟของญี่ปุ่นนั้นจะมีอัตราความเร็วมากกว่า 500 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้อง ๆ ความเร็วเครื่องบินที่อัตราเฉลี่ย 800 กม./ชม.เลยทีเดียว

ทั้งสองชาตินี้ กำลังแข่งขันกันว่า ใครจะได้เป็นชาติแรกในโลกที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแมกเลฟ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเป็นผู้ส่งออกรถไฟเทคโนโลยีใหม่มูลค่ามหาศาล แบบเดียวกับซีเมนส์ของเยอรมนีบนรางปกติ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกมาแล้ว

อันที่จริงจีนเองก็มีเทคโนโลยีแมกเลฟใช้งานมาแล้วกว่า 17 ปี ตั้งแต่ปี 2546 แต่เป็นเพียงเส้นทางสายสั้น วิ่งระหว่างตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ไปสนามบินผู่ตง ระยะทางแค่ 30 กิโลเมตรเท่านั้น ใช้เวลาการเดินทาง 7 นาที อัตราความเร็ว 500 กม./ชั่วโมง

แต่อัตราความเร็วจริง ๆ ที่ผมเคยทดลองนั่งตอนไปชมงานเซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ความเร็วสูงสุดที่ปรากฏบนจอ ทำได้เพียง 430 กม./ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็รู้สึกว่าเร็วเอาการอยู่นะ

รู้สึกได้ว่า ตัวลอย ๆ เหนือที่นั่งเชียวล่ะ ก็คงจะเป็นเพราะการลอยอยู่เหนือรางนี่แหละ จึงไม่มีแรงเสียดทาน ไม่รู้ว่าหากวิ่งระยะยาว ความรู้สึกลอย ๆ ล่อน ๆ จะหายไปไหม ก็ยังคงคิดในตอนนั้นอยู่ว่า สักวันหนึ่ง แมกเลฟสายยาวจีนคงมีแน่

มีเรื่องโจ๊กจากไกด์จีนเล่าสู่กันฟังเหมือนกันว่า “ซีเมนส์” ของเยอรมนีต่างหากเป็นต้นตำรับแมกเลฟ แต่ก็ยังเป็นโครงการในห้องทดลอง จีนใจกล้ามากกว่า เอาต้นแบบออกจากห้องแลปมาได้อย่างไรไม่รู้ พร้อมจ้างวิศวกรซีเมนส์มาทำงานด้วย…

ถึงได้เป็นแมกเลฟเซี่ยงไฮ้สายสั้น อายุใช้งาน 17 ปีมาถึงทุกวันนี้

สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็ถือว่ายังร่ายรำตามวิถีทางญี่ปุ่นอยู่ ไม่เป็นเสือปืนไวเหมือนจีนเขา ญี่ปุ่นมีแมกเลฟทดลองสายจังหวัดยามานาจิ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโตเกียว ระยะทาง 43 กม. โดยใช้อัตราความเร็ว 500 กม./ชั่วโมง

แต่ก็นั่นแหละ ยังเป็นแมกเลฟญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในห้องแลปทดลอง ยังไม่ได้นำออกมาวิ่งเหมือนจีน

ในรอบ 1 ทศวรรษมานี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนารถไฟความเร็วสูงจนล้ำหน้ากว่าชินกันเซนของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มต้นก่อนไปแล้ว ทั้งเครือข่ายระยะทางที่มากกว่า และล้อรถไฟที่วิ่งได้ถึง 4 ระบบ โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถใหม่

ญี่ปุ่นต้องแข่งสร้างรถไฟพลังแม่เหล็กให้ทันจีนหรือก่อนจีน เพื่อกลับเข้าสู่เส้นทางแข่งขันในตลาดโลกให้ได้

ญี่ปุ่นมีโครงการลงทุนแมกเลฟมูลค่า 9 ล้านล้านเยน หรือ 8.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) ในเส้นทางโตเกียว-โอซาก้า กำหนดจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปีค.ศ. 2037 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า

ส่วนจีนใช้เงินลงทุนน้อยกว่า มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านหยวน หรือ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.6 แสนล้านบาท) เท่านั้น ในเส้นทางเซี่ยงไฮ้-หนิงโป กำหนดจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปีค.ศ. 2035 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า

ต้นทุนค่าก่อสร้างของญี่ปุ่นแพงกว่าจีนมาก เพราะต้องขุดเจาะอุโมงค์ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขามาก

เป้าหมายส่งแมกเลฟไปขายตลาดต่างประเทศของจีน ยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งไปตลาดใดกันแน่ แต่เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่ารถไฟความเร็วสูงธรรมดาประมาณ 2-3 เท่า คงจะไปทำตลาดในประเทศกำลังพัฒนาลำบาก

ส่วนญี่ปุ่นบริษัท JR Central ได้ตั้งเป้าหมายจะส่งออกแมกเลฟไปที่สหรัฐอเมริกาในเส้นทางวอชิงตัน ดีซี-นิวยอร์ก มูลค่าโครงการประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เวลาการเดินทางจะเร็วขึ้น จาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียงชั่วโมงเดียว ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเสียอีก ระบบรางของสหรัฐฯ ซึ่งเก๋ากึ๊กมาก คงได้พาสชั้นจากเชื้อเพลิงน้ำมัน ข้ามระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า มายังระบบเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็กคราวนี้

จีนกับญี่ปุ่นใครถึงเส้นชัยก่อนกันในการแจ้งเกิดแมกเลฟ คงได้เห็นกันเร็ววันนี้ จุดชี้ขาดน่าจะอยู่ที่ใครทำต้นทุนได้ถูกกว่ากัน

Back to top button