พาราสาวะถี

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายต่อผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับการที่ชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกยื่นร้อง ไม่ต้องไปมองถึงคำอธิบายต่าง ๆ อย่างที่บอกไว้แต่ต้นที่โหมกระแสกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะหลุดจากเก้าอี้ เนื่องจากเป็นหนทางเดียวที่จะคลี่คลายวิกฤติของปัญหาโดยเฉพาะการชุมนุมที่กดดันประเทศอยู่ในเวลานี้ เมื่อจุดนั้นมันมีความเป็นไปได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำไปผลมันจึงออกมาอย่างที่เห็น


อรชุน

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายต่อผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับการที่ชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกยื่นร้อง ไม่ต้องไปมองถึงคำอธิบายต่าง ๆ อย่างที่บอกไว้แต่ต้นที่โหมกระแสกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะหลุดจากเก้าอี้ เนื่องจากเป็นหนทางเดียวที่จะคลี่คลายวิกฤติของปัญหาโดยเฉพาะการชุมนุมที่กดดันประเทศอยู่ในเวลานี้ เมื่อจุดนั้นมันมีความเป็นไปได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำไปผลมันจึงออกมาอย่างที่เห็น

ไม่จำเป็นต้องไปถามต่อว่านี่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้นำประเทศคนต่อไปหรือไม่ เพราะองค์กรที่วินิจฉัยก็ประกาศมาอยู่ตลอดอยู่แล้ว เรื่องเดียวกันแต่ต่างกรรมต่างวาระไม่สามารถที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ มีกรณีไหนบ้างก็เห็น ๆ กันอยู่ แค่ได้รู้ว่านี่คือประเทศไทย ถึงขนาดที่มีการเปิดพจนานุกรมปลดคนเป็นผู้นำประเทศมาแล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจแยแส ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สถาปนาให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้จากที่เคยวิจารณ์กันได้ มันก็ทำให้เห็นแล้วว่าเขามีภารกิจเพื่ออะไร

ฝ่ายผู้ชุมนุมก็อย่างที่บอก ไม่ได้ให้น้ำหนักต่อผลการวินิจฉัยในครั้งนี้ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไม่รอดกรณีนี้ จึงมีย้ายจุดนัดหมายจากเดิมที่จะชุมนุมยังศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนมาเป็นห้าแยกลาดพร้าวแทน นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า เป็นการส่งสัญญาณกลับไปยังฝ่ายกุมอำนาจ เมื่อได้อยู่ต่อก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านกันต่อไป ส่วนเรื่องการยกระดับจะเข้มข้นขนาดไหน มีการมองไปถึงปีหน้าแล้วว่าจะดุเดือดขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันในวันที่ศาลตัดสินท่านผู้นำก็ล็อกคิวลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามไปคุยกับต้นมะพร้าว พายเรือเล่นในคลอง ใครจะมองว่าเป็นการแก้เคล็ดคลายเครียดหรืออะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายถ้าอ่านใจคนที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแม้จะไม่เต็มร้อยเหมือนคราวมีหัวโขนหัวหน้าคสช. ก็คงจะเห็นภาวะหน้าชื่นอกตรม การบ่นพึมพำแต่ทำให้นักข่าวได้ยินหลายครั้งหลายหนหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเครียดที่กำลังเผชิญได้อย่างชัดเจน

แม้กระทั่งเรียกร้องสื่อเรื่องของการนำเสนอภาพข่าวของการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงและราชินีให้มากกว่าการให้ความสำคัญกับข่าวของม็อบ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเบลอหรือลืมตัวไปว่า ข่าวดังกล่าวนั้น ต้องถูกบรรจุไว้ในข่าวพระราชสำนักและกระบวนการนำเสนอก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและรับอนุญาตกันอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ใครจะนำเสนออย่างไรก็ได้ หรือว่าท่านผู้นำไม่เข้าใจและอดไม่ได้ที่จะต้องเล่นงานสื่อฐานะที่บังอาจนำเสนอข่าวที่สร้างแรงกดดันให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ความจริงหากไม่สนใจหรือไม่ให้ราคาต่อความเคลื่อนไหวของฝ่ายชุมนุม ก็ต้องไม่ออกอาการมาลงที่สื่อ ตรงนี้ยิ่งเป็นภาพสะท้อนต่อไปว่า ความตั้งใจของรัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อการแทรกแซงสื่อนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องของปฏิบัติการไอโอตอบโต้และทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายชุมนุม ทั้งหมดนี้ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเป็นการใช้งบประมาณของแผ่นดินอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพียงเพื่อที่จะปกป้องคนเพียงคนเดียว

เช่นเดียวกันกับกรณีที่ระบุว่ามีการตรวจสอบผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมนั้น แล้วการที่มีนักธุรกิจรายหนึ่งมาร่วมในขบวนการไอโอครั้งนี้ของฝ่ายทหารถามว่าจะจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ไหน ข้ออ้างอันคลาสสิกคือทำไปเพื่อปกป้องสถาบัน ถ้าเช่นนั้นก็ต้องต่อสู้กันว่าด้วยการโจมตีข้อเสนอของฝ่ายผู้ชุมนุมในกรณีเรื่องปฏิรูปสถาบันเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ เพราะมีการจัดวางคนที่เรียกว่า ฝ่ายดำ” ไว้ตอบโต้ ด้อยค่า สร้างมลทินฝตข.หรือฝ่ายตรงข้าม

ชัดเจนมากไปกว่านั้นในแผนปฏิบัติการระบุชัดเจนว่าคือ คณะราษฎร คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นี่จึงไม่ใช่การปกป้องสถาบันเพียงอย่างเดียวแล้ว และก็จะเหมือนกับการออกมาเคลื่อนไหวของคนที่สวมเสื้อเหลือง หากเป็นการปกป้องสถาบันถือเป็นเรื่องที่ดีงามและคนไทยทุกคนพร้อมสนับสนุน แต่ถ้าเป็นการใช้สีเสื้อบังหน้าแล้วมาปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการถือเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้ก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปถึงการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่ายที่ ชวน หลีกภัย ยืนยันว่าต้องทำต่อไปแม้จะได้รับการปฏิเสธเข้าร่วมจากฝ่ายชุมนุมต่อต้านรัฐบาล คำถามที่สำคัญคือ ที่ระบุว่ามีตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลด้วยนั้น มีม็อบคณะไหนที่ประกาศว่าตัวเองออกมาเคลื่อนไหวแล้วสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจบ้างในห้วงที่มีความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร จะเห็นแต่กลุ่มที่ออกมาชุมนุมปกป้องสถาบันเท่านั้น

ถ้าฝ่ายรัฐสภามองว่าคนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล นั่นยิ่งเป็นการยอมรับโดยดุษฎีว่าที่เคลื่อนไหวกันมานั้น เป็นการแอบอ้างหรือโหนสถาบัน เช่นนี้จะถือว่าเป็นการปกป้องหรือทำให้มัวหมองแปดเปื้อนกันแน่ แค่ประเด็นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าการจะใช้เส้นทางสภาเพื่ออ้างว่านำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น มันย่อมเป็นไปไม่ได้ และยิ่งพยายามเพื่อให้เกิดคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ว่าจะโดยแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 มากเท่าไหร่ โดยที่สัดส่วนของคณะกรรมการก็มองเห็นว่าฝ่ายไหนมากกว่ากัน

สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นว่าจอมหลักการก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่จะสร้างสตอรี่เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจต้องการ นั่นก็คือ ปลายทางหากคณะกรรมการสมานฉันท์เสนอคำถามพ่วงที่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดก็ตามแต่ ในทำนองว่าต้องการให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ต่อหรืออยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ สิ่งนี้จับอาการได้จากบทสัมภาษณ์ของเนติบริกรประจำรัฐบาลที่ย้ำตลอดว่าถ้าจะมีคำถามพ่วงเกี่ยวกับการแก้สถานการณ์วิกฤติต้องออกมาจากคณะกรรมการสมานฉันท์เท่านั้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเล่ห์กลของขบวนการสืบทอดอำนาจ

Back to top button