“คนละครึ่ง”-ราคาสินค้าเกษตรดี หนุนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. ปรับขึ้นสูงสุดรอบ 9 เดือน

ม.หอการค้าฯ เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2 แตะ 52.4 สูงสุดในรอบ 9 เดือน ได้อานิสงส์ "คนละครึ่ง"-ราคาสินค้าเกษตรดีช่วยหนุน


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.63 อยู่ที่ 52.4 จาก 50.9 ในเดือน ต.ค.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 45.6 จาก 43.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 50.0 จาก 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.6 จาก 59.9

ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/63 ลดลง -6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ในปี 63 ว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือ -6% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง -7.8 ถึง -7.3%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี, รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการช้อปดีมีคืน ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม, ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, การส่งออกไทยในเดือนต.ค.63 ลดลง -6.71%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ย.63 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63 เป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อหลายจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนต.ค.63 จนทำให้ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 171 เดือน หรือกว่า 14 ปี ประกอบกับผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากโควิด-19

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะความกังกลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากได้รับผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกหลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมคาดว่า ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ของโลกจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ตัวนี้จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

Back to top button