“ศบค.” เปิดผลตรวจ ASQ กลุ่มแพทย์ติด “โควิด” พบเชื้อที่ลูกบิดประตู!

“ศบค.” เปิดผลตรวจ ASQ กลุ่มแพทย์ติด “โควิด” พบเชื้อที่ลูกบิดประตู!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ธ.ค.63) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.- 16 ธ.ค. 2563 (เวลา 08.00 น.) พบผู้ติดเชื้อ 67 ราย ในจำนวนนี้เป็นการพบเชื้อหลังเข้าอยู่ในสถานที่กักกันในพื้นที่ (Local State Quarantine:LQ) 48 ราย มีเพียง 2 รายที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 17 ราย เป็นผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติและเดินทางไปใน 7 จังหวัด

โดยแต่ละจังหวัดนั้นจะครบระยะเฝ้าระวัง 14 วัน คือ จ.เชียงราย วันที่ 19 ธ.ค. จ.เชียงใหม่ วันที่ 16 ธ.ค. จ.พะเยา วันที่ 15 ธ.ค.กรุงเทพฯ วันที่ 20 ธ.ค. จ.พิจิตร วันที่ 15 ธ.ค. จ.ราชบุรี วันที่ 16 ธ.ค. และจ.สิงห์บุรี วันที่ 18  ธ.ค.

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า สิ่งที่กรมควบคุมโรคมีความเป็นห่วง คือ กรณีพบบุคลากรการแพทย์ 7 รายติดเชื้อในสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) จากการสำรวจสิ่งแวดล้อมใน ASQ ปรากฏว่าพบเชื้อโควิด-19 บนลูกบิดประตู ดังนั้นจึงต้องกำชับไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งสถานที่กักตัว ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานที่ทำงาน ต้องให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดจุดที่มีการใช้มือสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ด้ามไม้กวาด ไม้ถูพื้น เป็นต้น

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ภาพรวมยังเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ากักกันตามระบบ ยังไม่มีการรายงานติดเชื้อในประเทศเพิ่มเติม สำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และ 7 จังหวัดของประเทศไทยที่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเดินทางไปนั้น ขอให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัย สามารถไปเที่ยวได้ แต่คงมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และสแกนไทยชนะ เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางมาจาก 7 จังหวัดดังกล่าว ทุกคนไม่ได้มีความเสี่ยงกว่าคนอื่น ไม่จำเป็นต้องกักตัว สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

สำหรับความก้าวหน้าการสอบสวนโรคกรณีบุคลาทางการแพทย์ติดเชื้อใน ASQ กทม. 7 รายเท่าเดิม ข้อสรุปจากการสอบสวนโรคกลุ่มก้อนนี้เป็นการติดเชื้อจากปฏิบัติงานใน ASQ โดยข้อสันนิษฐาน คือ 1 รายติดเชื้อจากผู้เข้าพักที่เดินทางมาจากต่างประเทศและแพร่กระจายให้กลุ่มเพื่อนที่คลุกคลีนอกเวลางาน แต่ไม่ได้แพร่ต่อไปบุคลากร และเจ้าหน้าที่ ASQ อื่น ๆ การระบาดของกลุ่มก้อนนี้อยู่เพียงวงจำกัด สถานการณ์ควบคุมได้ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายถูกกักตัวตามมาตรฐาน 3 ครั้ง โดยตรวจแล้ว 2 ครั้งไม่พบติดเชื้อเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากกรณีนี้นำไปสู่การทบทวนมาตรการต่างๆของ ASQ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ตรวจสอบมาตรฐานและการบริหารจัดการของ ASQ อย่างเคร่งครัด ส่วน รพ.เอกชนคู่สัญญาของ ASQ ทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบุคลากรทุกแห่ง เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ และการป้องกันการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

 

Back to top button