CIMBT มองโควิดรอบใหม่ฉุด Q1/64 หดตัวแรง กด GDP ปีหน้าโตไม่ถึง 3%

CIMBT มองโควิดรอบใหม่ฉุด Q1/64 หดตัวแรง กด GDP ปีหน้าโตไม่ถึง 3%


นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1/64 เสี่ยงหดตัวแรงกว่าคาด จากผลการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ ทำให้แรงส่งสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกที่จะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังมีความท้าทายเนื่องจากหลายประเทศก็ยังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย CIMBT ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/64 หลังมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดไปบ้าง แต่เนื่องจากมาตรการที่ออกมาไม่ใช่การล็อกดาวน์ทั่วประเทศ และยังมีส่วนสนับสนุนจากการส่งออก และมาตรการทางการคลังของภาครัฐ แต่เราคงต้องรอความชัดเจนของมาตรการควบคุมต่างๆ และความรุนแรงของการระบาดรอบนี้ก่อนปรับการประมาณการทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด double-dip recession และทำให้ GDP ปีหน้าอาจขยายตัวไม่ถึง 3% ซึ่งน้อยกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้าที่ 4.1%

ทั้งนี้ การกลับมาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด จนล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาตรการเตรียมความพร้อม โดยแบ่งความเข้มงวดในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมออกตามพื้นที่ แยกตามจำนวนผู้ติดเชื้อ และแนวโน้มในความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ได้ เช่น จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการที่มีความจำเป็น ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ห้ามแรงงานต่างด้าวเข้าออกพื้นที่ ควบคุมการเข้า-ออกของยานพาหนะ และบุคคลไทย โดยมิให้กระทบต่อการค้าและอุตสาหกรรมมากเกินความจำเป็น จำกัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก และให้คนทำงานที่บ้านและใช้การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ทางผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ

โดยแม้การระบาดรอบใหม่ในไทย จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าในเดือน มี.ค.ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่มาตรการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดรอบนี้ ไม่น่าจะส่งผลเชิงลบกับเศรษฐกิจมากเท่าที่เห็นในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากทางราชการยังอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินต่อไปได้ แม้อาจต้องจำกัดจำนวนคนเพื่อรักษาระยะห่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้บริการและรายได้ของธุรกิจลดลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ธุรกิจส่วนใหญ่เดินหน้าต่อได้ ไม่เกิดการปิดกิจการ เลิกจ้าง ซึ่งอาจส่งผลให้รายได้ครัวเรือนลดลงจนกระทบการใช้จ่ายของคนทั่วไปได้ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่คนอาจชะลอการตัดสินใจซื้อ หรือแม้แต่อาหาร เครื่องดื่ม ที่คนอาจลดการรับประทานเมื่อใช้เวลาในบ้านมากขึ้น

สำหรับการใช้จ่ายของคนในประเทศในไตรมาส 1/64 อาจกลับมาหดตัวแรงขึ้น หลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3/63 แต่จะรุนแรงเพียงไรก็ขึ้นกับความเข้มข้นของมาตรการในการจำกัดกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ดี มองว่ารายได้ภาคเกษตรในช่วงไตรมาส 1/64  ยังอยู่ในระดับการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากทั้งราคาที่อยู่ในระดับสูง และผลผลิตภาคเกษตรที่น่าจะออกมามากขึ้นหลังพ้นปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้

ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนน่าจะยังหดตัวต่อเนื่องในปีหน้า ทั้งจากยอดขายที่ลดลง ส่งผลให้เอกชนลดการผลิตสินค้าและน่าจะระบายสต๊อกสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการที่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก ก็อาจมีผลให้แรงงานขาดแคลนมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับแรงส่งของเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ โดยมองว่า รัฐบาลอาจเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ เช่น การแจกเงินชดเชยรายได้ที่หายไป หรือการลดรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจกำลังทบทวนผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ก่อนว่าสมควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงไร เพราะหากยังอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินต่อได้ แม้รายได้ลดลง แต่ก็ไม่ใช่การจำกัดทั้งหมดเหมือนรอบแรก จึงอาจไม่ชดเชยเท่าแต่ก่อน

นอกจากนี้ ด้วยหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเร็ว อาจทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังไม่ก่อหนี้มากเกินไป แต่ในประเด็นหนี้สาธารณะชนเพดานนี้ คิดว่าอาจไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ เพราะหากเป็นการก่อหนี้เพื่อฟื้นฟูประเทศและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก พร้อมมีมาตรการหารายได้มาเพิ่มเติมในอนาคต การก่อหนี้ก็มีความจำเป็น และไม่น่ากระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ

ทั้งนี้ แม้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอาจสะดุดจากการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ปัจจัยในประเทศน่าจะควบคุมได้ และมีมาตรการทั้งการเงินและการคลังในการประคองเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม คือ อุปสงค์ต่างประเทศที่กระทบภาคการส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนสูงกว่า 60% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ไม่ใช่เกิดที่ประเทศไทยเพียงที่เดียว แต่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศจนต้องงดจัดงานคริสมาสต์และปีใหม่ และอาจลากยาวไปช่วงฤดูหนาวนี้ จนอาจทำให้ภาคการส่งออกที่กำลังฟื้นตัวกลับมาหดตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่หลายประเทศได้ออกมาตรการทางการคลังอย่างเร่งด่วนในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ น่าจะช่วยประคองอุปสงค์ต่างประเทศ และน่าจะสนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสินค้าเกษตร ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการทำงานที่บ้าน แต่กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอาจได้รับผลกระทบบ้าง

นอกจากนี้ ปัจจัยชี้วัดการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีหน้าที่สำคัญอีกประการ คือ ราคาน้ำมัน เนื่องจากสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรมีราคาที่ผันผวนตามราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปีนี้ไปถึงไตรมาสแรกปีหน้าได้ ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยพยุงการส่งออกของไทยได้ อีกทั้งหากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการช่วยให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับต่างประเทศได้ ไม่แข็งค่าเร็วจนเกินไป ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออกได้เช่นเดียวกัน

 

 

 

Back to top button