สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจีย รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาหุ้นโบอิ้งที่ทรุดตัวลงกว่า 5% หลังจากนักวิเคราะห์ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นโบอิ้ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,223.89 จุด ร่วงลง 382.59 จุด หรือ -1.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,700.65 จุด ลดลง  55.42 จุด หรือ -1.48% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,698.45 จุด ลดลง 189.84 จุด หรือ -1.47%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันแรกของปีใหม่ เนื่องจากนักลงทุนขานรับความหวังว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากอังกฤษสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป และมีการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ทั่วทวีปยุโรป

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.67% ปิดที่ 401.69 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,588.96 จุด เพิ่มขึ้น 37.55 จุด หรือ +0.68% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,571.88 จุด เพิ่มขึ้น 111.36 จุดหรือ +1.72% ขณะที่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,726.74 จุด เพิ่มขึ้น 7.96 จุดหรือ +0.06%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) ในวันแรกของการซื้อขายปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และการพุ่งขึ้นของราคาโลหะได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเหมืองแร่

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,571.88 จุด เพิ่มขึ้น 111.36 จุด หรือ +1.72%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน และจะจัดการประชุมอีกครั้งในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 90 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 47.62 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 71 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 51.09 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุแนว 1,940 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งแนวโน้มที่ประเทศต่างๆจะออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนแรงซื้อทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 51.5 ดอลลาร์ หรือ 2.72% ปิดที่ 1,946.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2563 และทำสถิติพุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซนต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2563 จากข้อมูลของ FactSet

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 95.2 เซนต์ หรือ 3.6% ปิดที่ 27.364 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7.7 ดอลลาร์ หรือ 0.71% ปิดที่ 1,071.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 62.60 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 2,391.20 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) ขานรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.11% แตะที่ 89.8700 เมื่อคืนนี้

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2252 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2214 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3566 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3657 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7670 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7694 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.11 เยน จากระดับ 103.19 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8806 ฟรังก์ จากระดับ 0.8848 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2772 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2757 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button