ฟรีโฟลตที่แท้จริง.!?

หนึ่งใน “คีย์เวิร์ด” สำคัญจากถ้อยแถลงของ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าด้วยเรื่องการทบทวนเกณฑ์ฟรีโฟลต (Free Float) นั่นคือคำว่า “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ที่เป็นการถอดรหัสให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ถูกอำพราง เสมือนดั่ง “ละอองฝ้าบนแว่นขยาย” จนทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์ฟรีโฟลตต่าง ๆ จึงไม่ตรงจุดหรือไร้ทิศผิดทางมาโดยตลอด


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

หนึ่งใน “คีย์เวิร์ด” สำคัญจากถ้อยแถลงของ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าด้วยเรื่องการทบทวนเกณฑ์ฟรีโฟลต (Free Float) นั่นคือคำว่า “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ที่เป็นการถอดรหัสให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ถูกอำพราง เสมือนดั่ง “ละอองฝ้าบนแว่นขยาย” จนทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์ฟรีโฟลตต่าง ๆ จึงไม่ตรงจุดหรือไร้ทิศผิดทางมาโดยตลอด

นิยามของ Free Float คือปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยวัดจากเปอร์เซ็นต์การถือครองหุ้น ยกตัวอย่างเช่น Free Float 20% นั่นหมายถึงมีรายย่อยถือหุ้น 20 % ที่เหลืออีก 80% ถือเป็นรายใหญ่หรือเจ้าของบริษัท โดยทั่วไปมีการแบ่งนักลงทุนที่ถือหุ้นเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเอง (ถือว่าจัดเป็นรายใหญ่)

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดให้สัดส่วนหุ้น Free Float ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไม่น้อยกว่า 15% และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย หากบริษัทใดมี Free Float ต่ำกว่า 15% เมื่อครบปีที่ 1 จะถูกประกาศชื่อขึ้นทำเนียบบริษัทที่มี Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์

จากนั้นหากบริษัทยังแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อครบปีที่ 2 จะถูกประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) พร้อมหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่หากในปีที่ 3 บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยได้เกินกำหนด จะถูกย้ายไปอยู่กลุ่ม NPG (NPG หรือ Non Performing Group) และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข

บริบทของหุ้นฟรีโฟลตสูงและฟรีโฟลตต่ำ จึงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยหุ้นฟรีโฟลตสูง จะมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ทำให้เกิดสภาพคล่องการซื้อขายสูงและราคาหุ้นจึงขึ้นหรือลง ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ในทางกลับกันหุ้นฟรีโฟลตต่ำ หุ้นจะกระจุกตัวอยู่กับนักลงทุนรายใหญ่และเจ้าของบริษัท ทำให้เกิดสภาพคล่องการซื้อขายที่ต่ำ ทำให้ราคาหุ้นถูกกำหนดหรือชี้นำโดยนักลงทุนรายใหญ่ได้ง่าย..!

จึงมักได้เห็นปรากฏการณ์ “ขาใหญ่ลากไปเชือด” อยู่เสมอ..และกว่าจะรู้หรือจับได้ก็สายเกินแล้ว..!!

กลับมาที่คีย์เวิร์ด “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ในความหมายคือ “ฟรีโฟลต” ที่เราเห็นมันคือภาพลวงตาหรือไม่..!? เพราะหากดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายบริษัท ที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลต (ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ) มักพบเห็นผู้ถือหุ้นในรูปนิติบุคคล ทั้งนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ที่จะเข้ามาถือหุ้นต่ำกว่าระดับ 5% เพื่อหลบเลี่ยงเข้าข่ายนิยามว่า “เป็นนักลงทุนรายใหญ่”

นั่นจึงทำให้หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลตเป็นไปตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่จริงแล้ว “หุ้นกระจุกตัว” และสาละวน อยู่กับพอร์ตของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว

และสารตั้งต้นตรงนี้เอง…ที่เป็นตัวการบิดบังซ่อนเร้น “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ใช่หรือไม่.!?

ดังนั้นหากตลาดหลักทรัพย์ฯ คิดการจะแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนเกณฑ์ฟรีโฟลตแบบเอาจริงเอาจัง อย่างที่ได้ประกาศเอาไว้คงต้อง “กลัดกระดุมเม็ดแรก” ตรงนี้ให้ได้เสียก่อน..มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็น “ฟรีโฟลตจอมปลอม” หลอกหูหลอกตานักลงทุนไปวัน ๆ เหมือนดั่งที่เป็นอยู่กันต่อไป..!!?

Back to top button