ส่องธุรกิจอสังหาฯ ปี 64 ฟื้นตัวเด่น “ดีบีเอสฯ” ชู AP-LH “ท็อปพิค” กลุ่ม! กำไรโต-ปันผลสูง

ส่องธุรกิจอสังหาฯ ปี 64 ฟื้นตัวเด่น “ดีบีเอสฯ” ชู AP-LH "ท็อปพิค” กลุ่ม! กำไรโต-ปันผลสูง


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เห็นทิศทางธุรกิจในปี 2564 มานำเสนอ โดยครั้งนี้อาศัยข้อมูลจากบทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ระบุข้อมูลการลงทุนเอาไว้ดังนี้

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  หากจะประเมินย้อนไปยังปี 63 ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าหลักทรัพย์ที่จะมีผลการดำเนินงานดีที่สุดในแง่อัตราการเติบโตของกำไรของกลุ่มที่อยู่อาศัยคือ AP แต่ที่คาดว่าจะออกมาด้อยลงมากที่สุดคือ ANAN แต่หากพิจารณาหลักทรัพย์ที่มีราคาปรับตัวขึ้นดีมากที่สุดเป็น SPALI ระยะสั้นอาจจะมีการเก็งกำไรเรื่องเงินปันผลงวดสุดท้ายปี 63

โดยคาดว่า LPN จะจ่ายมากที่สุด ส่วน SPALI จ่ายน้อยที่สุด ขณะที่ SIRI และ ANAN มีโอกาสจะยกเว้นการจ่ายเงินปันผล เพื่อรักษาระดับเงินสดไว้ (แต่ในแผนภาพสมมุติให้จ่ายไว้ก่อน)

สำหรับแนวโน้มในปี 64 คาดว่าจะมีความสดใสมากขึ้นในเรื่องการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปี 63 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในแง่ของการเปิดขายโครงการใหม่และยอดขาย (Presales) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทางด้านประมาณการ คาดว่าหลังจากปี 63 ที่กำไรของกลุ่มปรับตัวลดลง 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและถือว่าปรับตัวลงมา 2 ปีติดต่อกันแล้วคือปี 62 และ 63 แต่คาดว่าปี 64 นี้จะกลับฟื้นตัวขึ้นได้ 16% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข้อดีคือ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของกลุ่มที่อยู่อาศัยที่สูง คาดว่าปี 64 เป็น 6%  และอาจจะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่น่าสนใจต่อการลงทุน

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆก็ยังคงมีอยู่ เช่น ผลกระทบโรคโควิดในไตรมาส1/2564 กำลังซื้อที่น้อยจากหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมทั้งปัจจัยทางด้านการเมือง

คำแนะนำคือ จุดต่ำสุดของกลุ่มได้ผ่านไปแล้ว ควรเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี Top Pick คือ AP และ LH ราคาพื้นฐานเป็น 8.10 และ 8.50 บาท ตามลำดับ ราคาหุ้นปรับขึ้นดีตามคำแนะนำ และมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก หากจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าคาดในอนาคต จุดแข็งของทั้งสองหลักทรัพย์คือ ในพอร์ตสินค้ามีแนวราบที่แข็งแกร่งมีกำลังซื้ออยู่จริง และการเน้นจับตลาดกลาง-บนในปัจจุบันนั้นดีกว่าระดับล่าง ในสภาวะปัจจุบัน สำหรับ AP มี Backlog สูง และทั้งสองหลักทรัพย์จ่ายปันผลได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

 

ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากความคาดหวังการนำวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มเห็นกำหนดการนำเข้ามาใช้ในประเทศชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งช่วยให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอาจจะคลี่คลายลงได้ในระยะต่อไป แต่ยังต้องติดตามว่าวัคซีนที่จะเข้ามานั้นสามารถกระจายให้กับประชาชนได้กว้างขวางแค่ไหน และการควบคุมการแพร่ระบาดจะทำได้รวดเร็วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สวนทางกับกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังขาดความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาโครงการในปี 64 มาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มั่นในในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมีความมั่นใจเกี่ยวกับยอดขายและรายได้ในปี 64 ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นได้จากปีก่อนที่ผู้ประกอบการหลายรายในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบกันไปมาก แต่จะเริ่มมีทิศทางการค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มกลับมาลงทุนเปิดโครงการใหม่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการเติมซัพพลายหลังจากระบายสต๊อกกันไปได้มากแล้วในปีก่อน และยังมีโครงการที่เดิมที่เลื่อนการเปิดตัวจากปีก่อนมาเป็นปีนี้ด้วย

สำหรับภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 64 ที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่าจะมีจำนวน 89,000 หน่วย แบ่งเป็น โครงการคอนโดมิเนียม 36,000-37,000 หน่วย สัดส่วน 30-40% และโครงการแนวราบ 52,000 หน่วย แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อนาน อาจทำให้จำนวนการเปิดโครงการใหม่ลดลงไป 10,000 หน่วย เหลือ 79,000 หน่วย หรืออยู่ในช่วง 79,000-89,000 หน่วย ซึ่งยังสูงกว่าปี 63 ที่เปิดรวม 71,500 หน่วย

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ได้มองทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 เป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะโต 5-10% ระดับกลางจะเติบโตเล็กน้อย 0.5% หรือ และระดับแย่ที่สุด จะหดตัวลง 10% ซึ่งเป็นระดับการหดตัวเท่ากับปี 63 หากติดหดตัวลง 2 ปีต่อเนื่อง จะทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ 2 ปีลดลงถึง 20% เป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button